รวมพลังกู้ภาพลักษณ์ ท่องเที่ยวไทย โจทย์ท้าทายรับไฮซีซัน

รวมพลังกู้ภาพลักษณ์ ท่องเที่ยวไทย โจทย์ท้าทายรับไฮซีซัน

“แม้มีเหตุระเบิดใน 7 เมืองท่องเที่ยวภาคใต้ ช่วงวันที่ 11-12 สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่จากการติดตามสถิติระหว่างวันที่ 1-27 สิงหาคม 2559 ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทย 2.6 ล้านคน และตลอดทั้งเดือนจะแตะ 3 ล้านคนเหมือนเดือนกรกฎาคม ซึ่งหากเทียบกับเหตุระเบิดแยกราชประสงค์เมื่อปี 2558 เป็นคนละเรื่องเลย เหตุปีนี้มีผลกระทบน้อยมาก ผมจึงมั่นใจว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ อย่างมีนัยสำคัญ เป้าหมายนักท่องเที่ยวทั้งปี 33-34 ล้านคน รายได้ไม่ต่ำกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ไม่เกินเอื้อม” มุมมองจาก นายพงศ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นั่นคือความมั่นใจต่อภาพรวมการท่องเที่ยวของไทยในมุมภาครัฐจากส่วนกลาง “ฐานเศรษฐกิจ” จึงเปิดเวทีเสวนาโต๊ะกลม “รวมพลังกู้ภาพลักษณ์ ท่องเที่ยวไทย โจทย์ท้าทายรับไฮซีซันไทย” เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่โรงแรมอมารี หัวหิน ระดมสมองคนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องมาเสนอ ดังนี้

จัดโซนคุมเซฟตี้ฟื้นเชื่อมั่น

ดร.ทวี นริศศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นจากการสอบสวนคาดว่า เกิดจากคนที่อื่นเข้ามาสร้างความเสียหาย หลังเกิดเหตุทางจังหวัดตั้งศูนย์รักษาความปลอดภัยและมั่นคง หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ เฝ้าสังเกตสิ่งผิดปกติ การคัดกรอง ปราบปราม ป้องกัน-ระงับเหตุ และช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทันที ขั้นตอนจากนี้ของศูนย์ฯคือ การสร้างจิตสำนึกความเชื่อมั่น เริ่มจากคนในพื้นที่ นำไปสู่คนนอกพื้นที่ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายชุมชน เพื่อเฝ้าระวังดูแลทั้งกลางวันและกลางคืน หรือเรียกว่าตาสับปะรด เริ่มจากพื้นที่หัวหินและในเขตเทศบาลก่อน ที่จะเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ทั้งการก่อการร้าย รวมถึงปัญหาอาชญากรรม การจัดระเบียบความสะอาดในจุดต่าง ๆ

มีการจัดโซนดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ในพื้นที่ 8 อำเภอของประจวบคีรีขันธ์ แบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนพื้นที่ความปลอดภัยสูง โซนพื้นที่เฝ้าระวังทั่วไป และโซนพื้นที่ข้างเคียง ที่อาจะเป็นเขตปลอดภัยในตำบล หรือหมู่บ้าน หลังเกิดเหตุทางจังหวัดได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งการจัดทำแผนบูรณาการการทำงานร่วมกัน การเพิ่มอุปกรณ์ เทคโนโลยี เช่น กล้องวงจรปิดเพิ่มขึ้น เป็นการพลิกวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นโอกาส ในการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว

ยิ่งหากแผนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐดำเนินการแล้วเสร็จ การท่องเที่ยวในพื้นที่และรวมถึงภาคใต้จะยิ่งขยายตัว อาทิ การเดินเรือเฟอร์รี่ข้ามอ่าวไทย เชื่อมโยงระหว่าง พัทยา หัวหิน ปราณบุรี สมุย ของกรมเจ้าท่า ซึ่งทางจังหวัดก็เตรียมพื้นที่บริเวณปากน้ำปราณฯ ที่จะพัฒนาเป็นท่าเรือเฟอร์รี่ไว้รองรับ แผนการเปิดด่านสิงขร เป็นด่านถาวร การขยายให้เกิดเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากต่างประเทศ มาลงที่สนามบินบ่อฝ้าย ที่หัวหิน โครงการไฟรางคู่ เป็นต้น

ททท.โฟกัสท่องเที่ยววิถีไทย

ด้านนางอรสา อาวุธคม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การท่องเที่ยวของไทยในภาพรวมถือว่ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนไป เหตุก่อการร้ายเกิดขึ้นได้ทุกที่ทั่วโลก และจากการทำวิจัยด้านการท่องเที่ยวพบว่า คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้การก่อการร้าย มากระทบการดำรงชีวิต หรือเศรษฐกิจ ซึ่งจะไปเข้าทางผู้ก่อเหตุ โดยคนก็ยังเดินทางท่องเที่ยวกันอยู่ ประกอบกับช่วงที่เกิดระเบิดมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และภัยธรรมชาติในหลายพื้นที่ ทำให้กรณีนี้ไม่ได้เป็นกระแสหลักของสื่อโลก เป็นเพียงรายงานตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และผลกระทบด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่หัวหิน ก็เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมต่าง ๆ ในพื้นที่หัวหิน ในเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ 57.59% ลดนิดเดียวจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่อยู่ที่ 59.27 %

ปีที่ผ่านประจวบมีรายได้จากการท่องเที่ยว 30.8 หมื่นล้านบาท จากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติราว 6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.65% และปีนี้จะเห็นว่านักท่องเที่ยวจีนเดินทางเที่ยวหัวหินเพิ่มขึ้น และกระจายไปยังเมืองอื่น ๆ ในประจวบฯ เพราะหลายอำเภอก็มีจุดขายเรื่องของชายทะเลเช่นกัน ซึ่งตลาดจีนที่มาเที่ยวหัวหินเราเน้นกลุ่มคุณภาพ ภายใต้กลยุทธการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

ส่วนโจทย์ท้าทายในปีหน้า การท่องเที่ยวประจวบฯ มีเป้าหมายการเพิ่มรายได้เป็น 3.2 หมื่นล้านบาท เน้นวันพักเฉลี่ยให้เพิ่มขึ้น จากที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 3-4 วันเท่านั้น รวมถึงเน้นจุดขายเรื่องของการท่องเที่ยวชุมชนและวีถีชุมชนให้มากขึ้น เช่น ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่มีทั้งทุเรียนป่าละอู ที่ทัวร์จีนชอบ ผักปลอดสารพิษที่ทับสะแก เรียนรู้การอยู่ร่วมระหว่างคนกับช้างที่กุยบุรี ซึ่งนักท่องเที่ยวยุโรปโดยเฉพาะเยอรมันจะสนใจมาก เป็นต้น เพื่อให้สอดรับสโลแกนภาพใหญ่ของททท. ที่จะส่งเสริมเรื่อง “ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋แบบลึกซึ้ง” และการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา โดยเน้นเที่ยวข้ามภูมิภาค ดึงคนอีสานที่ไม่ทะเลเดินทางมาเที่ยวประจวบ

พื้นที่ออกแคมเปญ “กอดหัวหิน”

ในด้านความร่วมมือของเอกชนในพื้นที่นั้น นางลิษา อึ้งเห่ง นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน/ชะอำ เผยว่าผลกระทบที่ผ่านมาจึงมีการยกเลิกห้องพักไม่มากนัก การยกเลิกก็จะเป็นคนไทยส่วนตลาดต่างประเทศก็มีการติดต่อเข้ามาสอบถามสถานการณ์

ขณะเดียวกันทางสมาคมยังได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการในพื้นที่ จัดแคมเปญ “กอดหัวหิน” ที่ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ให้ส่วนลดแก่นักท่องเที่ยวในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ เพื่อกระตุ้นให้รักหัวหินและเดินทางมาเที่ยวหัวหินในช่วง 2 เดือนดังกล่าว

เนื่องจากหัวหินเป็นกอล์ฟ เดสติเนชัน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสปาติดอันดับโลก รวมถึงความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัดที่มีชื่อเสียง ทำให้หัวหินเป็นเดสติเนชันที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทย สมาคมกำลังหารือกับททท. เพื่อส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยววิถีไทย ในเรื่องของเส้นทางประวัติศาสตร์ เพราะหัวหินเป็นเส้นทางเสด็จ ทั้งทางถนนและทะเล ที่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นจุดขายใหม่ได้ รวมถึงการผลักดันให้มีเที่ยวบินต่างประเทศ บินตรงเข้ามาในหัวหิน ก็จะช่วยดึงตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ โดยเฉพาะตลาดจีน มาเลเซีย และหากโครงการรถไฟความเร็วสูงเสร็จ

จะช่วยบูมการท่องเที่ยวได้มาก

จี้ผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับมุมมองของภาคเอกชน นายอุดม ศรีมหาโชตะ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ ภาครัฐควรเร่งผลักดัน 3 โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อแก้ปัญหารถติดในเส้นทางคอขวดลงใต้ ได้แก่ โครงการสะพานลอยฟ้า เส้นพระราม 2 โครงการมอเตอร์เวย์ บางใหญ่ ในช่วงเชื่อมระหว่างถนนพระราม 2 -นครปฐม และเสนอให้พัฒนาสนามบินกองบิน 5 อ่าวมะนาว มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพราะทำเลดี ไปด่านสิงขร เชื่อมไปมะริดได้

ด้านนายภานุพันธ์ บัวสรวง ผู้จัดการใหญ่โรงแรมอมารี หัวหิน กล่าวว่า ระเบิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กระทบการจองห้องพักไม่มาก เพียงประมาณ 10 % ในช่วง 2 เดือน(ส.ค.-ก.ย.)นี้ ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งได้แนะนำให้มาเที่ยววันอื่นแทนได้ เราเป็นโรงแรมระดับสากล และอยู่ในธุรกิจนี้มากกว่า 40 ปี ได้ดูแลความปลอดภัยและสื่อสารกับลูกค้าอย่างเป็นระบบ ผ่านตัวแทนขายในต่างประเทศ จึงไม่กังวลเรื่องรายได้ที่หายไป แต่ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยมากกว่า เพราะถ้าปลอดภัยไม่นานนักท่องเที่ยวกลับมา ถึงไฮซีซันนี้ก็ยังคงเติบโตเหมือนเดิม

ขณะเดียวกันสิ่งที่ยังเป็นปัญหาของหัวหิน และนับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น คือ การขาดแคลนน้ำ เพราะมีการเปิดให้บริการของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในหัวหินเพิ่มขึ้น ทั้งศูนย์การค้า และคอนโดมิเนียม อย่างที่โรงแรมเอง ก็ต้องซื้อน้ำใช้ ภาครัฐควรเข้ามาดูแลการขยายแนวท่อจ่ายน้ำโดยเฉพาะในโซนเขาตะเกียบ ที่เป็นปัญหาหนักกว่า

ทั้งหมดล้วนเป็นความคิดเห็นในเวทีเสวนาโต๊ะกลมที่เกิดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 4 – 7 กันยายน พ.ศ. 2559

ขอบคุณ... http://www.thansettakij.com/2016/09/06/93657 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: thansettakij.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 7 ก.ย.59
วันที่โพสต์: 7/09/2559 เวลา 09:14:30 ดูภาพสไลด์โชว์ รวมพลังกู้ภาพลักษณ์ ท่องเที่ยวไทย โจทย์ท้าทายรับไฮซีซัน