สร้างระบบน้ำในไร่นา

สร้างระบบน้ำในไร่นา

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการทำเกษตรกรรม และลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำให้กับเกษตรกร และส่งเสริมการจัดระบบไร่นาของเกษตรกรให้มีความยั่งยืน ด้วยการมีแหล่งน้ำในฟาร์มของตนเอง

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการทำเกษตรกรรม และลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำให้กับเกษตรกร และส่งเสริมการจัดระบบไร่นาของเกษตรกรให้มีความยั่งยืน ด้วยการมีแหล่งน้ำในฟาร์มของตนเอง เป็นการลดการพึ่งพาน้ำจากระบบชลประทานและแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มักมีความผันผวนตามสถานการณ์ทางธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือการควบคุม

และจะเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงจากระบบการทำเกษตรกรรมแบบพึ่งธรรมชาติ มาเป็นการทำการเกษตรแบบบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยการผลิตด้านน้ำ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้จัดทำโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกรขึ้น

โดยมีเป้าหมาย ในสถาบันเกษตรกรทั้งในเขตชลประทาน และเขตรับน้ำฝน จำนวน 100 แห่ง มีสมาชิกประมาณ 6,000 ราย คิดเป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากน้ำเฉลี่ยรายละ 10 ไร่ และเป็นพื้นที่รับน้ำได้มากกว่า 60,000 ไร่ โดยจะดำเนินการในโครงการนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2564 รวมระยะเวลา 5 ปี

ซึ่งโครงการนี้เป็นผลมาจากที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้แนวคิดในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในระดับไร่นาแบบใหม่ คือเน้นให้เกษตรกรแต่ละราย มีการพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้มีระบบสำรองน้ำเพื่อการเกษตรไว้ใช้ในเหตุฉุกเฉิน โดยเริ่มขุดสระกักเก็บน้ำไว้ใช้ในไร่นา หรือขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลไว้ใช้ทดแทนน้ำชลประทานในบางช่วงที่เกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร รวมทั้งสามารถนำระบบน้ำใต้ดินมาใช้ประโยชน์ได้

สำหรับการดำเนินโครงการฯ นั้นจะใช้งบประมาณจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ในวงเงิน 302,997,500 ล้านบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้สถาบันเกษตรกรกู้ ในวงเงิน 300 ล้านบาท ปลอดดอกเบี้ย ระยะเวลา 5 ปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย กรณีขุดสระเก็บกักน้ำ ในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ไม่น้อยกว่า 2 เมตร พร้อมกับอุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำ ท่อน้ำ ในระบบน้ำหยด หรือพ่นละอองน้ำ งบประมาณเฉลี่ยแห่งละ 50,000 บาท ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง

“ตอนนี้ทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศกำลังทำการสำรวจความต้องการของเกษตรกรซึ่งทางกรมฯ ได้ส่งหลักเกณฑ์ในการพิจารณาไปให้แล้ว เมื่อมีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการทางคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งจะประกอบด้วยส่วนงานที่เกี่ยวข้องในด้านพื้นที่และการพัฒนาแหล่งน้ำมาร่วมกันพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของผู้ขอเข้าร่วมโครงการในแต่ละราย ซึ่งจะดูว่าพื้นที่ที่เสนอนั้นสามารถขุดบ่อน้ำได้หรือไม่ ขุดแล้วใช้ประโยชน์ตามเป้าหมายหรือไม่ หากเข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ก็จะอนุมัติเงินกู้ให้ไปดำเนินการ” ดร.วิณะโรจน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

ทั้งนี้กรณีขุดเจาะระบบน้ำบาดาล หรือปรับปรุงระบบน้ำบาดาล พร้อมกับอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำ ท่อน้ำ ในระบบน้ำหยด หรือพ่นละอองน้ำ งบประมาณเฉลี่ยแห่งละ 50,000 บาท ส่วนมาตรการและแผนการส่งชำระคืนเงินทุนของเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุน แต่ละรายจะต้องส่งเงินคืนกองทุนอย่างน้อยปีละ 20% ของวงเงินกู้ยืม และทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จะรวบรวมส่งคืนกองทุนปีละ 60 ล้านบาท รวมระยะเวลา 5 ปี เป็นเงิน 300 ล้านบาท

“ในการคืนก็คืนปีละ 20% สมมุติ กู้ไป 50,000 บาทเขาก็ต้องคืนปีละ 20% ก็คือปีละ 10,000 บาท โดยคืนที่จังหวัด จังหวัด ก็จะส่งต่อให้กรมฯ กรมฯ ก็จะเอา 20% นี้มารวมกัน แล้วส่งให้กองทุน ก็จะดำเนินการประมาณ 5 ปี ซึ่งถ้าโครงการนี้ไปได้ดีในระดับหนึ่ง มีความสามารถในการคืนชำระได้ในปีแรกหรือสมาชิกต้องการเพิ่มมากขึ้นก็จะดำเนินการเพิ่มพื้นที่และจำนวนเกษตรกรต่อไป” ดร.วิณะโรจน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

และเป็นที่คาดกันว่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการทำการเกษตรจากวิกฤติการขาดแคลนน้ำได้ และเกษตรกรก็จะมีโอกาสในการวางแผนการผลิตแบบก่อนหรือหลังฤดูกาลตามปกติได้เนื่องจากมีแหล่งน้ำต้นทุนสำรองในระดับไร่นา ส่งผลให้ผลผลิตสามารถทยอยออกสู่ตลาดในระยะเวลาที่เหมาะสมตามความต้องการของตลาด และลดภาระหนี้สินที่เกิดความเสี่ยงจากการทำการเกษตรตามระบบธรรมชาติที่มักมีความผันผวนมาอย่างต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณ... http://www.dailynews.co.th/agriculture/518762 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 23 ส.ค.59
วันที่โพสต์: 23/08/2559 เวลา 10:52:50 ดูภาพสไลด์โชว์ สร้างระบบน้ำในไร่นา