ศูนย์ขยายผลการเรียนรู้ ตามแนวพระราชดำริ จ.สกลนคร

ศูนย์ขยายผลการเรียนรู้ ตามแนวพระราชดำริ จ.สกลนคร

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม 2559 นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี และนายดนุชา สินธวานนท์ รองเลขาธิการ กปร. พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เยี่ยมชมโครงการเสริมสร้างเกษตรกรต้นแบบตามแนวพระราชดำริ ด้านเกษตรผสมผสานในพื้นที่ขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี และนายดนุชา สินธวานนท์ รองเลขาธิการ กปร. พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางเข้าเยี่ยมชมโครงการเสริมสร้างเกษตรกรต้นแบบตามแนวพระราชดำริ ด้านเกษตรผสมผสานในพื้นที่ขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของนายทองปาน พิมพานิชย์ บ้านคำประมง ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมี นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครให้การต้อนรับ

ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรรายนี้มีรายได้จากการขยายผลผลิตมากถึง 665,000 บาทต่อปี หลังจากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน อีกทั้งสามารถจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ในการต่อยอดและขยายผลสำเร็จจากการประกอบอาชีพและการสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตให้กับราษฎรรายอื่น ๆ ได้ต่อไปด้วย

นายทองปาน พิมพานิชย์ ปัจจุบันอายุ 61 ปี เดิมมีอาชีพทำนาเป็นหลัก หมดหน้านาก็เดินทางเข้าเมืองรับจ้างทั่วไป ฐานะยากจน มีรายได้เพียงปีละ 3,000 บาท อีกทั้งยังติดหนี้ ธ.ก.ส. อีกมากมาย ในปี พ.ศ. 2540 นายทองปานเริ่มปรับแนวความคิด โดยการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติใช้ ด้วยการ ลงมือทำการเกษตรแบบผสมผสานบนพื้นที่ 17 ไร่โดยทำสวนและเลี้ยงสัตว์ 14 ไร่ ทำนาอีก 3 ไร่ เริ่มด้วยการปลูกมะม่วง บริเวณบ้าน แซมด้วยพืชผักสวนครัวทุกอย่างที่กินได้ เช่น มะละกอ ข่า ตะไคร้ พริกมะเขือ เพื่อให้มีกินเป็นเบื้องต้น มีเหลือจึงนำออกขาย

ขุดสระน้ำภายในพื้นที่เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้รดต้นพืชผัก ภายในสระเลี้ยงปลาและกบ ขอบสระเลี้ยงเป็ด และไก่ รวมทั้งเพาะเห็ด โดยได้นำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเครื่องมือนำทางลดรายจ่ายในการทำการเกษตร โดยการทำปุ๋ยจากมูลสัตว์ เศษวัสดุทางการเกษตรต่าง ๆ เพื่อใส่พืชผักและไม้ผลที่ปลูก ทำให้ลดรายจ่ายด้านปุ๋ยเคมีในการนำมาบำรุงต้นพืช แถมทำให้สุขภาพดีด้วยไม่มีสารเคมีตกค้างในร่างกาย ทำให้สามารถทำงานได้มากขึ้น ไม่เจ็บป่วยเหมือนเมื่อก่อนที่ทำนาที่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในการกำจัดแมลงศัตรูพืช

ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ย 3–4 หมื่นบาทต่อเดือนซึ่งเป็นรายได้จากการนำผลผลิตที่ปลูกในพื้นที่ออกจำหน่าย ซึ่งสามารถจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่องทุกวัน ด้วยการปลูกพืชแบบหมุนเวียน โดยขณะที่ไม้ให้ผลอย่างมะม่วง มะขาม ยังไม่ให้ผลผลิต ก็เก็บพืชผัก สับปะรด และอ้อย ตลอดถึงกล้วยที่ปลูกขายเป็นรายได้ เมื่อไม้ให้ผลออกผลผลิตก็เก็บขายจึงมีรายได้เป็นก้อนใหญ่ในแต่ละปี ขณะที่ค่าใช้จ่ายมีไม่มากนัก

ปัจจุบันสามารถเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตรได้ถึง 50 ไร่ แบ่งพื้นที่ทำเกษตรผสมผสานเพิ่มเติม โดยทำนาปลูกข้าว จำนวน 10 ไร่ปลูกไม้ผลชนิดต่าง ๆ อีก 20 ไร่ ได้แก่ มะม่วงงามเมืองย่า แก้วมังกร มะขามเปรี้ยว สับปะรด ฝรั่ง พุทรา และกล้วยหอมทองเพื่อส่งไปขายประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งได้ก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรปลูกกล้วยหอมทองจังหวัดสกลนครและเกษตรกรจังหวัดใกล้เคียงเพื่อรวมผลผลิตส่งจำหน่ายญี่ปุ่นอีกด้วย

จากความสำเร็จดังกล่าวปัจจุบันแปลงเกษตรของนายทองปาน พิมพานิชย์ ได้รับการจัดตั้งให้เป็นสถานที่ศึกษาดูงานแก่ผู้สนใจได้เข้าศึกษาดูงานเพื่อนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตน เองและของแต่ละคนต่อไป.

ขอบคุณ... http://www.dailynews.co.th/agriculture/513196

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 3 ส.ค.59
วันที่โพสต์: 3/08/2559 เวลา 09:42:45 ดูภาพสไลด์โชว์ ศูนย์ขยายผลการเรียนรู้ ตามแนวพระราชดำริ จ.สกลนคร