มอบมะพร้าว พันธุ์ผสม 84-1 ให้ราษฎรปลูกเพื่อขยายผล

มอบมะพร้าว พันธุ์ผสม 84-1 ให้ราษฎรปลูกเพื่อขยายผล

นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ได้มอบพันธุ์มะพร้าวกะทิพันธุ์ลูกผสมชุมพร 84-1 ให้แก่ราษฎรในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ได้มอบพันธุ์มะพร้าวกะทิพันธุ์ลูกผสมชุมพร 84-1 ให้แก่ราษฎรในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในโอกาสเดินทางไปติดตามการดำเนินงานโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรตามแนวพระราชดำริ(แก้มลิง) ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เมื่อวันก่อน

เพื่อให้เกษตรกรในโครงการฯ นำไปปลูกทั้งเพื่อขยายพันธุ์ และปลูกเชิงพาณิชย์ต่อไป ด้วยเป็นมะพร้าวพันธุ์ดี ประกอบกับพื้นที่มีความเหมาะสมด้วยมีการบริหารจัดการน้ำได้ตามเป้าหมาย ซึ่งหมายถึงจะมีน้ำเพียงพอในหน้าแล้ง และสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ในช่วงหน้าฝนหรือช่วงน้ำหลาก ที่จะเกิดผลเสียต่อแปลงปลูกพืชของเกษตรกร

มะพร้าวพันธุ์ 84-1 เป็นพันธุ์รับรองและพันธ์ุแนะนำของศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์และคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี เพื่อใช้เป็นพันธุ์แนะนำสำหรับเกษตรกร ซึ่งมะพร้าวลูกผสมพันธุ์รับรองที่แจกจ่ายให้เกษตรกรนำไปปลูกครั้งนี้ เกิดจากคู่ผสมของมะพร้าวพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ยกับพันธุ์กะทิพันธุ์แท้ และประสบความสำเร็จที่จะขยายสู่การปลูกของเกษตรกรโดยทั่วไปได้

เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตรวม 3 ปีแรก ในพื้นที่ปลูกจำนวน 25 ต้นต่อพื้นที่ 1 ไร่อยู่ที่ 3,378 ลูก และผลผลิตที่ได้จะเป็นมะพร้าวกะทิไม่น้อยกว่า 18 ลูก อายุเริ่มออกจั่นต่อเดือน 29 จั่น สำหรับแปลงปลูกนั้นจะต้องเลือกแหล่งปลูกให้ปลอดจากมะพร้าวธรรมดา หรือห่างจากแปลงมะพร้าวธรรมดาอย่างน้อย 300 เมตร และให้มีต้นไม้ใหญ่ล้อม ถ้าเป็นทุ่งโล่งก็ต้องให้ห่างจากมะพร้าวธรรมดาอย่างน้อย 5 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการผสมข้ามพันธุ์

ลักษณะเด่นอีกประการ คือ ให้ผลผลิตเร็วขึ้น เมื่ออายุ 2 ปี 5 เดือน ก็จะให้ผล เป็นมะพร้าวกะทิ ซึ่งต้นมะพร้าวธรรมดาจะไม่มี โดยเฉลี่ยจะไม่น้อยกว่าร้อยละ 18 และเนื้อมะพร้าวกะทิมีเปอร์เซ็นต์ไขมันต่ำ ใน 1 ทะลายจะมีมะพร้าวกะทิมากกว่า 1 ลูก ถ้าทะลายที่สมบูรณ์จะเป็นกะทิมาก หรือเป็นเกือบทั้งทะลาย และก็เป็นมะพร้าวน้ำหอมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ตามธรรมชาติของมะพร้าวกะทิทุกสายพันธุ์ เวลาติดผลในหนึ่งทะลายจะมีผลที่กลายเป็นกะทิร่วมอยู่ด้วย 1 ผล หรือเป็นกะทิได้มากที่สุดไม่เกิน 3 ผล ต่อหนึ่งทะลาย จึงเป็นสาเหตุทำให้มะพร้าวกะทิ มีราคาแพงกว่ามะพร้าวแกงทั่วไป ก่อนหน้า นี้มะพร้าวกะทิจะมีสายพันธุ์เดียวคือ เป็นพันธุ์ที่มีต้นสูง 10 หรือ 15 เมตร ซึ่งต้องปีนขึ้น ไปเก็บจึงไม่ค่อยได้รับความนิยมปลูกเพื่อ การค้า

สำหรับการบริโภคส่วนใหญ่นิยมเอาเนื้อมะพร้าวกะทิไปใส่น้ำแข็งไสผสมน้ำเชื่อมมีรสชาติหวานมันบางแห่งนำมาใส่ไอศกรีม บัวลอย จำหน่าย ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภค จึงทำให้ตลาดของมะพร้าวกะทิมีเพิ่มมากขึ้นและแน่นอน การส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกมะพร้าวกะทิพันธุ์ดี พันธุ์ 84-1 จึงเป็นการเหมาะสมในการเพิ่มช่องทางอาชีพให้กับเกษตรกรได้มากขึ้น

ขอบคุณ... http://www.dailynews.co.th/agriculture/503071 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 17 มิ.ย. 59
วันที่โพสต์: 17/06/2559 เวลา 09:37:48 ดูภาพสไลด์โชว์ มอบมะพร้าว พันธุ์ผสม 84-1 ให้ราษฎรปลูกเพื่อขยายผล