5 คำขอโทษ (ทางธุรกิจ) บันลือโลก

หลังจากทิม คุกซีอีโอของแอปเปิล ออกแถลงการณ์ขอโทษผู้บริโภคทั่วโลกเกี่ยวกับความผิดพลาดของระบบแผนที่บนไอโอเอส 6 ของไอโฟน 5 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กรุงเทพธุรกิจได้รวบรวม 5 คำขอโทษของบริษัทขนาดใหญ่ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด

เริ่มต้นด้วย ทิม คุก ซีอีโอแอปเปิล ที่เพิ่งออกแถลงการณ์ถึงลูกค้าเมื่อวันศุกร์ (28 ก.ย.) ยอมรับว่า บริษัทไม่สามารถทำตามพันธสัญญาในการสร้างผลิตภัณฑ์ ที่ยอดเยี่ยมด้วยระบบแผนที่ใหม่และแอพแผนที่ใหม่ของบริษัทมีข้อบกพร่อง

"เราต้องขอโทษเป็นอย่างสูง ที่ระบบแผนที่ใหม่เป็นสาเหตุให้ลูกค้าไม่พอใจ และเราจะทำทุกอย่างเพื่อเร่งแก้ไขและปรับปรุงข้อบกพร่องให้ดีขึ้น" นอกจากนี้ เขายังแนะนำให้ผู้บริโภคใช้แอพแผนที่ทางเลือกอื่นๆระหว่างที่บริษัทแก้ไขแอพแอปเปิลแมพของตัวเอง

ตามมาด้วย รูเพิร์ต เมอร์ด็อค ประธานและซีอีโอนิวส์ คอร์ป. โดย12 วันหลังเหตุการณ์อื้อฉาวลักลอบดักฟังโทรศัพท์ของบุคคลต่างๆเกือบ 4,000 คนของนักข่าวหนังสือพิมพ์นิวส์ ออฟเดอะเวิลด์ ในเครือนิวส์ คอร์ป.เริ่มเขย่าอาณาจักรสื่อของเขาเมื่อปีที่แล้ว เจ้าพ่อสื่อ อย่างเมอร์ด็อค ลงโฆษณาขอโทษเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์อังกฤษ 7 ฉบับ

"เราขอโทษสำหรับการทำผิดศีลธรรมร้ายแรงที่เกิดขึ้น เราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง สำหรับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ" เมอร์ด็อค กล่าวในโฆษณา

ส่วนกรณีของลอยด์ แบลงค์เฟน ซีอีโอ โกลด์แมน แซคส์ ซึ่งหลังการทำกำไรแบบทุบสถิติในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 และสำรองเงิน 16,700 ล้านดอลลาร์ไว้ เป็นค่าตอบแทนแบลงค์เฟนรู้สึกจำใจต้องออกมาขอโทษสำหรับบทบาทของบริษัท ในปัญหาการเงินดังกล่าว และบอกว่า เขารู้สึกกังวลเกี่ยวกับคำวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว เป็นอย่างมาก

"เรามีส่วนร่วมในสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าผิด และมีเหตุผลที่จะเสียใจ" แบล็งไฟน์ กล่าวในงานแถลงข่าวในนิวยอร์กเมื่อเดือนพ.ย. 2552 ก่อนที่ปิดท้ายด้วยประโยคที่ว่า "เราขอโทษ"

ขณะที่ในกรณีของเจพีมอร์แกน เชส ไม่เคยมีคำว่าสาย ที่จะกล่าวคำขอโทษ ปี 2548 เจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค ธนาคารใหญ่อันดับสองของสหรัฐได้แถลงการณ์ขอโทษ ต่อเหตุการณ์ในอดีตที่เคยมีการใช้ทาสเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน

"ยุคทาสเป็นช่วงเวลาแห่งความวิปโยคในประวัติศาสตร์ ของสหรัฐและของบริษัท" ธนาคารกล่าวในแถลงการณ์ และประกาศให้ทุนกับนักเรียนชาวสหรัฐเชื้อสายอาฟริกัน 5 ล้านดอลลาร์

ปิดท้ายด้วยโทนี เฮย์วาด์ด ซีอีโอบีพี กับเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ ซึ่งว่ากันว่าได้ฉายให้เห็นภาพความรับผิดชอบขององค์กรด้วยในตอนแรกดูเหมือนว่า เฮย์วาร์ด ซีอีโอของบีพีรายนี้จะมีท่าทีแข็งขืน แม้เขาจะออกมายอมรับหลังเกิดการรั่วไหลแล้วเกือบเดือนว่า บริษัทควรมีแผนฉุกเฉินที่ดีกว่านี้ แต่ต่อมาเขาแสดงอารมณ์โกรธกับผู้คนโดยบอกว่า "ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์นี้จบมากไปกว่าผมอีกแล้ว"

อย่างไรก็ดี สุดท้ายเฮย์วาร์ด ก็รับผิดชอบต่อการกระทำของบีพี ด้วยการออกมาขอโทษเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2553 โดยบอกว่า "การรั่วไหลของน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก เป็นโศกนาฎกรรม ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ผมขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์นี้"

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 30 กันยายน 2555 05:58
วันที่โพสต์: 1/10/2555 เวลา 11:20:47

ชอบเรื่องนี้ไหม? ชอบ ไม่ชอบ ไม่มีความเห็น

ยังไม่มีเรตติ้ง