ผุดโรงงานในรั้วเรือนจำหญิงให้อาชีพให้ชีวิต

กรมราชทัณฑ์ร่วมเอกชนสร้างโรงงานกว่า10ล้านในรั้วเรือนจำบำบัดพิเศษหญิงปทุมธานี สร้างคนดีคืนสู่สังคม

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการฝึกวิชาชีพ ในโครงการ “ให้อาชีพ ให้ชีวิต “ ระหว่างกรมราชทัณฑ์ กับบริษัท อีโนเว รับเบอร์(ประเทศไทย)จำกัด ณ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดย นางพิมพ์ใจ เหล่าจินดา ประธานกรรมการบริษัท อีโนเว รับเบอร์(ประเทศไทย)จำกัด นายอะซีชิ อิมามูระ กรรมการผู้จัดการบริษัท อีโนเว รับเบอร์(ประเทศไทย)จำกัด เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนวัสดุยาง ในอุตสาหกรรมรถยนต์ และยางรถจักรยานยนต์ พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าร่วมลงนามในพิธี คิดมูลค่าการสร้างโรงงานกว่า 10 ล้านบาทภายในรั้ว ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง

พ.ต.อ. สุชาติ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ กระบวนการยุติธรรมไม่ได้มุ่งเน้นการลงโทษแก้แค้น แต่ได้เน้นเรื่องของการแก้ไข ทุกคนต้องยอมรับว่า ผู้ที่อยู่ในแนวกำแพงเรือนจำ วันหนึ่งก็ต้องออกไปอยู่ร่วมกับสังคม เมื่อเขาออกไปสู่สังคมทุกคนก็คาดหวังว่า บุคคลเหล่านั้นจะไม่ออกไปทำร้ายสังคมอีก โครงการที่บริษัท อีโนเว รับเบอร์ฯได้ดำเนินการนั้นถือว่าเป็นคุณประโยชน์อย่างสูงสำหรับกรมราชทัณฑ์ และน้อยนักที่จะมีภาคเอกชนใส่ใจพี่น้องกลุ่มใหญ่หลังแนวรั้วกำแพงเรือนจำ ซึ่งมีผู้ต้องขังอยู่ทั่วประเทศประมาณ 263,000 คน ซึ่งบุคลากรในกรมราชทัณฑ์หลายคนต่างมีความคิด และปรารภ ว่า ผู้ต้องขังจำนวนมากขนาดนี้นั้น ถือเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ ซึ่งตนได้ตอบไปว่า ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ กับคน จำนวนกว่า 263,000 คน ที่สามารถนำไปแปรให้เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างมากมาย

ทั้งนี้ งกลุ่มบุคคลเหล่านี้ เมื่อพ้นโทษออกไปแล้ว ทางบริษัทก็ยินดีรับเข้าทำงานประจำ วันนี้ประเทศไทยไม่ได้มีงบประมาณร่ำรวยอย่างหลายประเทศ ภาระหน้าที่บริหารราชการกันบนพื้นฐานการขาดแคลนงบประมาณ นอกจากแก้ไขบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังแล้ว การที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาช่วยเหลือตอบแทนหางบประมาณส่วนหนึ่งมาให้กับกรม ราชทัณฑ์ด้วย นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ ยังมีแนวขยายโครงการนี้ออกไปยังเรือนจำต่างๆทั่วประเทศ ฉะนั้น บริษัทเอกชนรายใดสนใจ ก็สามารถติดต่อประสานงานแจ้งวัตถุประสงค์มายังกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเราจะพยายามคืนคนดีกลับสู่สังคมต่อไป

ด้าน นางพิมพ์ใจ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการนำร่อง ผู้ต้องขังของทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง มีอยู่ 1,740 คน โดยจะอบรมและฝึกอาชีพรุ่นละ 20 คน จำนวน 10 รุ่น ภายหลังอบรมจะส่งเข้ากระบวนการทำงานจริง และประเมินผลสม่ำเสมอ ซึ่งโรงงานนำร่องแห่งนี้ จะใช้พนักงานจำนวน 400 คน โดยต้องการ และคาดหวังให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้กลับคืนสู่สังคมที่ดี ไม่เป็นภาระต่อสังคม และถ้าทุกคนที่ผ่านโครงการนี้แล้ว จะเป็นคนดีมี หิริโอตัปปะ (ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป) หางานได้รายได้ดี แล้วก็จะไม่กลับเข้าไปในมหาวิทยาลัยนี้อีก ซึ่งทางบริษัทจะประเมินผล และพยายามเพิ่มขยายโครงการออกไปอีก

ขอบคุณ... http://www.posttoday.com/สังคม/สังคมทั่วไป/218479/ผุดโรงงานในรั้วเรือนจำหญิงให้อาชีพให้ชีวิต (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: โพสต์ทูเดย์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 27 เม.ย.56
วันที่โพสต์: 27/04/2556 เวลา 03:14:21