เกษตรผสมผสานแบบประณีต จัดการใช้ดิน ทุน แรงงาน ให้เหมาะสม สู่วิถีที่ยั่งยืน
การปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือทำกิจกรรมเดียวทั้งพื้นที่มักมีความเสี่ยงสูงเมื่อต้องพบกับโรคแมลงศัตรูพืชระบาด กระทบแล้ง/น้ำท่วมทำให้เสียหาย หรือขายได้ราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ผลกระทบก็คือความไม่มั่นคงต่อการยังชีพ
วิถีเกษตรผสมผสานแบบประณีต เป็นการจัดการใช้ที่ดิน ทุน แรงงานหรือปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม ทำการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์หรือทำประมงในพื้นที่เดียวกัน เป็นวิธีที่มีความเสี่ยงน้อยสุดเมื่อจัดการใช้ปัจจัยการผลิตผสมผสาน ควบคุมโรคแมลงศัตรูพืชโดยชีวะวิธี มีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวต่อเนื่อง หรือชะลอการขายได้เมื่อราคาตกต่ำ เป็นหนึ่งวิถีที่ใครก็ทำได้ วันนี้จึงนำเรื่อง เกษตรผสมผสานแบบประณีต…วิถีที่ยั่งยืนมั่นคง มาบอกเล่าสู่กัน
คุณวิวิช พวงสวัสดิ์ เกษตรกรผู้ทำเกษตรผสมผสานแบบประณีต เล่าให้ฟังว่า ได้เคยทำงานภาครัฐมาก่อน แต่ปัจจุบันได้ลาออกมาทำงานภาคการเกษตรกับครอบครัว ในระยะแรกพื้นที่เกษตรที่นี่ได้ปลูกพืชชนิดเดียวมักทำให้ได้รับมีความเสี่ยงกับความแห้งแล้งหรือน้ำท่วมอยู่เนืองๆ แถมยังมีโรคแมลงศัตรูพืชระบาดอยู่บ่อยครั้ง ผลผลิตที่ได้รับมากบ้างน้อยบ้างไม่แน่นอน ฐานะความเป็นอยู่จึงพออยู่พอกินที่ยังไม่มีความมั่นคงนัก
จุดเปลี่ยน เริ่มเมื่อคุณพ่อได้ไปนำหน่อไผ่เลี้ยงที่เจริญเติบโตอยู่ตามริมห้วยในป่าเขามาเป็นอาหารในครัวเรือน ในคราวเดียวกันก็ได้ขุดเหง้าไผ่เลี้ยงมาปลูกที่สวนโดยมีเป้าหมายเพียงได้มีหน่อให้เก็บมากินเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน วิธีการปลูกเลี้ยงไผ่ก็ทำแบบผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้ ได้ปลูกไผ่ระยะระหว่างต้นและแถวห่างกัน 4×4 เมตร หลังการปลูกได้ดูแลรักษาบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะปล่อยให้เจริญเติบโตไปตามธรรมชาติ
ส่วนเพื่อนบ้านที่ทราบข่าวต่างแสดงความคิดเห็นว่าไผ่นั้นจะเจริญเติบโตได้ดีที่ตามริมห้วยป่าเขาเท่านั้น เมื่อนำมาปลูกที่นี่จะเจริญเติบโตได้อย่างไร? เหมือนกับเป็นโจทย์ที่ทำให้ต้องค้นหาวิธีการสู้ ด้วยความมุ่งมั่นในปี 2552 จึงได้ทดลองปรับเปลี่ยนระยะการปลูกไผ่มาเป็น 4×3 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 133 ต้น ใช้พื้นที่ปลูกไผ่ 10 ไร่
การเปลี่ยนแปลงอีกครั้งคือ ปี 2558 เราได้ศึกษาและเรียนรู้เรื่องเกษตรผสมผสานแบบประณีต และเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นแนวพระราชดำริในการปลูกพืชหลากหลายผสมผสาน ที่มีการใช้ปัจจัยการผลิตผสมผสานเหมาะสมเพื่อการลดต้นทุนการผลิต มีผลผลิตจากกิจกรรมหลายชนิดที่เก็บได้ต่อเนื่อง ได้อาหารปลอดสารเคมีบริโภคเพื่อสุขภาพดีทั้งครอบครัว ด้วยความมั่นใจว่าดีและเราทำได้ ครอบครัวจึงตัดสินใจร่วมกันทำการปรับเปลี่ยนสวนอีกครั้งมาเป็นเกษตรผสมผสานแบบประณีต
ขณะเดียวกัน ก็ได้ก้าวสู่การเป็นเกษตรกรก้าวหน้า รุ่นใหม่ YSF = Young Smart Farmer ในยุคประเทศไทย 4.0 ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมจากกองพัฒนาเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการขับเคลื่อนและส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินการด้วยแนวทางนี้
1. 1. หลักการ (Principle) คือ การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยใช้เครือข่ายเป็นเป้าหมายและกลไกในการพัฒนาให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเอง บนหลักการของการเรียนรู้ตลอดชีวิต การมีส่วนร่วมและการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
2. 2. เป้าประสงค์ (Goal) ด้วยการ 1. สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่ทำการเกษตร 2. เป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่น 3. เป็นการทดแทนเกษตรกรผู้สูงอายุ 4. เชื่อมโยงเครือข่ายในทุกระดับและทุกภาคส่วน
3. กลุ่มเป้าหมาย Target audience ด้วยการ 1. เกษตรกรรุ่นใหม่อายุ 17-45 ปี เริ่มต้นทำการเกษตรและเลือกประกอบอาชีพการเกษตร และ 2. มีความมุ่งมั่นตั้งใจต้องการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตตนเอง
คุณวิวิช เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า จากแนวทางข้างต้นจึงคิดใหม่ทำใหม่ พร้อมนำมาใช้ปฏิบัติเพื่อก้าวสู่การเป็นเกษตรกรก้าวหน้ารุ่นใหม่ ปัจจุบันได้จัดการใช้พื้นที่ 19 ไร่ ทำการเกษตรผสมผสานแบบประณีต ดังนี้
1. 1. พื้นที่ 6 ไร่ ได้จัดการปลูกไผ่เลี้ยง ไผ่บง ไผ่รวกหวาน ไผ่ดงดำหวาน ไผ่กิมซุ่ง ไผ่ดำ และปลูกกล้วยแซม
1. 2. พื้นที่ 3 ไร่ ได้จัดการปลูกผักหวานป่า แบบผสมผสานกับการปลูกชะอม มะละกอ กล้วย และไม้พะยูง
2. 3. พื้นที่ 2 ไร่ ได้จัดการปลูกมัลเบอร์รี่หรือต้นหม่อนกินผล และปลูกกล้วยแซม
1. 4. พื้นที่ 8 ไร่ ได้จัดการเป็นพื้นที่ทำการเกษตรผสมผสาน แบ่งเป็นทำนา หนึ่งไร่หลายแสน ปลูกกล้วย ผักหวานป่า ไผ่ มะม่วง ขนุน หรือพืชผักสวนครัวต่างๆ และในร่องน้ำได้ปล่อยเลี้ยงปลา ปู กุ้ง หรือหอยด้วยวิธีธรรมชาติ
การพัฒนาสวนไผ่ ได้จัดการรื้อพื้นที่สวนไผ่จากเดิมด้วยการเปลี่ยนมาปลูกไผ่ระยะ 3×1.5 เมตร ชนิดไผ่ที่นำมาปลูก ได้แก่ ไผ่เลี้ยง ไผ่บงหวาน ไผ่ดงดำหวาน ไผ่กิมซุ่ง ไผ่ดำ และไผ่รวกหวานไผ่สายพันธุ์ใหม่ การปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาได้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักตามอัตราส่วนเหมาะสม ให้น้ำต้นไผ่พอเพียงเพื่อการเจริญเติบโตสมบูรณ์ พร้อมได้จัดการปลูกและผลิตให้หน่อไผ่คุณภาพออกทั้งในและนอกฤดูกาล เพื่อให้มีรายได้นำเป็นทุนหมุนเวียนการผลิต
แนวคิดการทำเกษตรผสมผสานแบบประณีตคือ คิดใหม่ทำใหม่ ลดความเสี่ยง เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ปลูกง่าย ดูแลรักษาง่าย มีให้เก็บกิน กำหนดราคาขายได้ มีเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน หรือผลิตด้วยระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพที่ตรงกับความต้องการของตลาด
วิถีเกษตรผสมผสานแบบประณีตที่สำคัญคือ ต้องมีการจัดการที่ดิน เงินทุน แรงงาน และปัจจัยการผลิต วางแผนจัดการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์หรือทำประมงในพื้นที่เดียวกัน ใช้ปัจจัยการผลิตผสมผสานเพื่อลดต้นทุนการผลิต งดหรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีด้วยการพึ่งพาธรรมชาติ หรือผลิตและใช้สารสมุนไพรเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพปลอดภัยเก็บเกี่ยวต่อเนื่อง เป็นทางเลือกการยังชีพด้วยวิถีพอเพียงยั่งยืนมั่นคงที่ใครก็ทำได้
สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณวิรัช พวงสวัสดิ์ เลขที่ 7 หมู่ที่ 6 บ้านห้วยเดื่อ ตำบลโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู 39000 โทร. (089) 920-7815 หรือโทร. (081) 984-5179 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง โทร. (042) 313-477 ก็ได้ครับ
ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_23967