เกษตรฯ เผยโครงการ 9101 เดินเครื่องเต็มสูบก้าวหน้ากว่า 50% ย้ำโครงการเสร็จตามระยะเวลาตามเป้าหมายที่กำหนด
กรมส่งเสริมการเกษตร เผยผลการดำเนินงานโครงการ 9101 คืบหน้าแล้วกว่า 50% สามารถเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับดำเนินการไปแล้วกว่าหมื่นล้านบาท คาดโครงการน่าจะสามารถดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายนนี้
นายสงกรานต์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและชุมชนด้วยการนำหลักการ ทฤษฎี และแนวทางการแก้ไขปัญหา ด้านการเกษตรต่างๆ ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้ทรงพระราชทานไว้ ภายใต้ “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” โดยให้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ และเครือข่าย 8,219 ศูนย์ เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาภาคการเกษตรของชุมชนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของโครงการฯ ร่วมกับทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ
ขณะนี้โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าไปมากกว่า 50% และสามารถเบิกง่ายงบประมาณบางเข้าสู่ชุมชนไปแล้วกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของค่าแรงคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จได้ภายในเดือนสิงหาคม ส่วนค่าจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ก็คืบหน้าเบิกจ่ายไปแล้วเช่นกันกว่า 80% โดยรวมการดำเนินงานในโครงการ 9101 มีความคืบหน้าเฉลี่ยอยู่ที่ 75% มีการดำเนินงานครบทั้ง 8 กิจกรรม ซึ่งก็มีหลายโครงการที่แล้วเสร็จบ้างแล้ว อย่างไรก็ตามคาดว่าการดำเนินงานในโครงการจะสามารถเสร็จสิ้นเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ภายในเดือนกันยายนอย่างแน่นอน
สำหรับสัดส่วนการดำเนินงานทั้งสิ้น 24,160 โครงการที่มีการดำเนินงาน ประกอบด้วย โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ 35% โครงการปลูกพืช 20% โครงการเกี่ยวกับเลี้ยงสัตว์และประมง 10% อีก 5% เป็นเรื่องของการถนอมอาหารและฟาร์มชุมชน โดยทุกโครงการที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความสมัครใจและความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะเห็นได้ว่าสัดส่วนของโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีตัวเลขความต้องการสูงกว่าโครงการอื่นๆ สืบเนื่องมาจากเกษตรกรไทยต้องการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อผลิตพืชผลทางการเกษตรให้มีคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสม พร้อมกับลดต้นทุนการผลิตด้วยการลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง ซึ่งในระยะยาวก็จะทำให้ภาคการเกษตรของประเทศสามารถพัฒนา พึ่งพาตนเองได้ รวมถึงสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ทำให้การประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่มีความยั่งยืนและมั่นคง
นางวัชรีพร โอฬารกนก ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามจากผลการดำเนินงานมาจนถึงขณะนี้ ในเบื้องต้นสามารถประเมินผลในเชิงบวกได้ว่า เกษตรกรทุกชุมชนมีความตื่นตัวที่จะพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรกรรม มีความรักสามัคคีเกิดขึ้นในชุมชน เกิดการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน และสามารถที่จะดำเนินงานต่างๆ ในลักษณะกลุ่มที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับชุมชนให้เกิดการหมุนเวียนและมีสภาพคล่อง ส่งผลให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก
ดังตัวอย่างพื้นที่ปลูกสับปะรดใน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ที่แต่เดิมมุ่งเน้นปลูกแต่สับปะรดสดขายเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการตลาด เพราะไม่สามารถควบคุมผลผลิตได้ในแต่ละปี ทำให้มีปัญหาเรื่องราคาอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นการส่งเสริมให้มีการแปรรูปสร้างความหลากหลายให้สินค้าจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถสร้างความมั่นคงให้กับตลาดได้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าได้อย่างมั่นคงอีกด้วย
ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_27046