“แมลงเศรษฐกิจ” อาหารทางเลือกใหม่ที่น่าจับตามอง
กรมส่งเสริมการเกษตร เผยแมลงเศรษฐกิจอาหารจากชุมชนถึงอาหารทางเลือกใหม่ (Novel Food) แมลงเศรษฐกิจที่ทำตลาดได้ดีทั้งในประเทศ และตลาดต่างประเทศ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศได้อย่างน่าสนใจ
นางวิลาวัลย์ วงษ์เกษม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (แมลงเศรษฐกิจ) กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะที่เป็นหน่วยงานภาครัฐเพียงแห่งเดียวในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจให้ช่วยผสมเกสรให้กับพืชผลทางการเกษตร เช่น ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ชันโรง และได้ผลพลอยได้เป็นผลผลิต เช่น น้ำผึ้ง เกสร ไขผึ้ง พรอพอลิส เป็นต้น รวมไปถึงแมลงที่สามารถนำมาเลี้ยงและบริโภคได้ เช่น จิ้งหรีด ซึ่งปัจจุบันเป็นอาหารทางเลือกใหม่ (Novel Food) ที่มีโปรตีนสูง สามารถส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ สร้างอาชีพและมีรายได้จากผลผลิตของแมลงเศรษฐกิจที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชุมชน และระดับประเทศ
ในปี 2559 กรมส่งเสริมการเกษตรได้นำผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ชันโรง เข้าไปช่วยผสมเกสรพืชเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในแปลงใหญ่ไม้ผล และในปี 2560 ได้นำระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เข้ามาใช้อย่างเป็นทางการโดยการคัดเลือกพื้นที่ๆ มีศักยภาพในด้านพืชอาหาร ความพร้อมของกลุ่มเกษตรกรในการบริหารจัดการแบบรวมกันผลิตเป็นกลุ่ม เพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยร่วมกันหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ราคาถูก นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อพัฒนาการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ การแปรรูปเพื่อเพิ่มผลผลิตมูลค่าผลผลิต การเชื่อมโยงการตลาดเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการโซ่อุปทาน (Supply chain) อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างอำนาจการต่อรองให้แก่เกษตรกร และสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ในสินค้าแมลงเศรษฐกิจจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ชันโรง จิ้งหรีด จำนวน 25 แปลง เกษตรกร จำนวน 980 ราย 19 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี สระแก้ว มหาสารคาม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชุมพร ตรัง พัทลุง สงขลา ระนอง แพร่ ตราด พิจิตร นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ เชียงราย อุตรดิตถ์ น่าน และลำพูน
ผู้ใหญ่สาย เปร็นรัมย์ ประธานแปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจ (จิ้งหรีด) ต.หนองแวง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว กล่าวว่า ตนและคนในหมู่บ้านมีอาชีพการเลี้ยงจิ้งหรีดมาตั้งแต่ปี 2552 จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจิ้งหรีดเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่ตลาดตอบรับดี เลี้ยงง่าย และมีต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก เหมาะสำหรับทำเป็นอาชีพหลัก และอาชีพเสริมไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการ ถ้าสามารถบริหารจัดการได้ดีก็เลี้ยงให้มากพอที่จะมีรายได้เป็นอาชีพหลัก ส่วนคนที่ไม่มีเวลาหรือมีอาชีพหลักอื่นๆ อยู่แล้วก็เลี้ยงในปริมาณที่น้อยเป็นอาชีพเสริมได้
ปัจจุบันในพื้นที่ อ.โคกสูง จ.สระแก้ว มีเกษตรกรที่เลี้ยงจิ้งหรีดจำนวน 60 ราย แต่ที่เข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่นั้นมีจำนวน 50 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่เลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพหลัก ซึ่งเฉลี่ยรายได้หลักหมื่นขึ้นไปขึ้นอยู่กับปริมาณในการเลี้ยง ใครมีพื้นที่เยอะก็สามารถเลี้ยงเยอะได้ ส่วนด้านการตลาดกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดจะทำตลาดด้วยการขายตัวสด ตัวนึ่ง และแปรรูปเป็นจิ้งหรีดอัดกระป๋อง โดยเน้นเป็นจิ้งหรีดไข่ เพราะมีรสชาติดีมีคุณค่าทางอาหารสูง และเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าจิ้งหรีดธรรมดา
สำหรับเกษตรกรที่เข้าเข้าร่วมแปลงใหญ่จิ้งหรีด กลุ่มของอำเภอโคกสูง ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2560 และมีกิจกรรมด้านการพัฒนาความรู้ในการผลิตจิ้งหรีดอย่างต่อเนื่อง มีการอบรม ไปดูงานร่วมกัน ใครมีปัญหามาพูดคุยกัน ในส่วนของภาครัฐก็จะมีการนำเทคนิคการเลี้ยงจิ้งหรีดให้มีคุณภาพมาส่งเสริมให้กับเกษตรกร แนะวิธีการลดต้นทุนการผลิต เช่น รวมกลุ่มกันซื้ออาหารเพื่อที่จะได้วัตถุดิบในราคาถูกมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันกลุ่มของเราสามารถลดต้นทุนการผลิตลงไปได้รายละ 1,000 บาท/เดือน และคาดว่าในอนาคตการเลี้ยงจิ้งหรีดจะสามารถขยายช่องทางการตลาดได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงสร้างมูลค่าได้เพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการพัฒนาคุณภาพผลผลิตจิ้งหรีดให้มีความหลากหลายของสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดนั่นเอง
ที่มา : มติชนออนไลน์
ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_25815