มหัศจรรย์รักแรงโน้มถ่วง โครงการแก้มลิงในพระราชดำริ “ทุ่งทะเลหลวง” บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
ไม่เพียงแต่ทรงเป็นห่วงประชาชนจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปีพ.ศ.2538 แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ดำริให้เกิด “แก้มลิง” ขึ้น เพื่อบริหารจัดการน้ำ และพร่องน้ำลงสู่ทะเลเมื่อพร้อมตามหลักแรงโน้มถ่วงของโลก
“…ตามปกติเวลาเราให้กล้วยกับลิง ลิงจะเคี้ยวแล้วเก็บไว้ในแก้มลิง… เขาเคี้ยวแล้วเอาไปเก็บในแก้มน้ำท่วมลงมา ถ้าไม่ทำ “โครงการแก้มลิง” น้ำท่วมนี้จะเปรอะไปหมด อย่างที่เปรอะปีนี้ เปรอะไปทั่วภาคกลาง จะต้องทำ “แก้มลิง” เพื่อที่จะเอาน้ำปีนี้ไปเก็บไว้…”
พระราชดำรัสเรื่องของแก้มลิง ได้พระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็นบุคคลช่างสังเกต และสามารถนำมาต่อยอดเป็นโครงการที่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างยั่งยืน
จังหวัดสุโขทัยเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้น้อมนำพระราชดำริมาต่อยอดในการบริหารจัดการนำ้ เกิดเป็น โครงการแก้มลิงในพระราชดำริ “ทุ่งทะเลหลวง”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อครั้งเสด็จมาเยือนสุโขทัยเมื่อพ.ศ.2535 ความว่า
“แม่น้ำยมในฤดูฝนมีน้ำมาก ในฤดูแล้งเกือบไม่มีน้ำ ให้พิจารณากั้นน้ำเป็นช่วงๆ แล้วผันน้ำเข้าคลองที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำยม แล้วขุดลอกในลำธารส่งน้ำไปเก็บกักไว้ตามหนองบึงธรรมชาติได้”
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ มีโอกาสได้ลงพื้นที่โครงการแก้มลิงในพระราชดำริ “ทุ่งทะเลหลวง” จ.สุโขทัย หรือที่รู้จักกันในชื่อ แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ เพราะเมื่อมองจากมุมสูงแล้วโครงการแก้มลิงแห่งนี้มีลักษณะเป็นเกาะรูปหัวใจยื่นออกไปกลางน้ำนั่นเอง
“สำราญ เขียวสำริด” หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1โครงการชลประทานสุโขทัย เล่าให้ฟังว่าโครงแก้มลิงทุ่งทะเลหลวงนี้ เกิดจากการน้อมนำพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาใช้เพพื่อบรรเทาอุทกภัยที่จะเกิดตอนหน้าฝน และกักเก็บน้ำไว้ใช้ตอนหน้าแล้ง
“บริเวณพื้นที่แก้มลิงนี้มีเนื้อที่ประมาณ 7 พันไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 32.4 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งพื้นที่โครงการมีประมาณ 1.9 หมื่นไร่ และตอนหน้าแล้งยังสามารถปล่อยน้ำไปช่วยในพื้นที่ได้ถึง 3-4 ตำบลของจังหวัดสุโขทัย” สำราญระบุและว่า
ประโยชน์ของการทำแก้มลิงทุ่งทะเลหลวงนั้นอกจากจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบนั้น ยังเปลี่ยนพื้นที่ที่น้ำท่วม เป็นพื้นที่ทำมาหากิน สร้างรายได้ โดยชาวบ้านในพื้นที่สามารถเข้ามาทำประมงในพื้นที่ได้ เพราะที่นี่ยังเป็นแหล่งเพราะพันธุ์ปลาขนาดใหญ่
ส่วนด้านการท่องเที่ยวนั้น หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำฯกล่าวว่า จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติปั่นจักรยานมาชมธรรมชาติโดบรอบ และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่ที่แห่งนี้ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้
นอกจากนี้ที่นี่ยังมีศูนย์ศึกษาผู้ใช้น้ำที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการแก้มลิง และทดลองการเกษตร รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ ที่ชาวบ้านทุกคนสามารถเข้ามาใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ได้อีกด้วย
…อีกหนึ่งพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างยั่งยืน
ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_33272