ปลูกกะหล่ำปลีในฤดูแล้งแบบอินทรีย์
สำหรับช่วงแล้งเหมาะปลูกกะหล่ำปลีธรรมดา ที่สำคัญเป็นผักที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมบริโภค มีลักษณะหัวหลายแบบ ตั้งแต่หัวกลม หัวแหลมเป็นรูปหัวใจ จนถึงกลมแบนราบ มีสีเขียวจนถึงเขียวอ่อน
ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ มีแปลงสาธิตสำหรับการเพาะปลูกผักที่เหมาะสมในช่วงฤดูแล้งหลายชนิด หนึ่งในนั้นก็คือ กะหล่ำปลี
กะหล่ำปลี เป็นผักอายุประมาณ 2 ปี แต่นิยมปลูกเป็นผักอายุปีเดียว คือ ตั้งแต่ย้ายปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 50-120 วัน ปลูกได้ผลดีในช่วงเดือนตุลาคม–มกราคม ถ้าปลูกนอกเหนือจากนี้จะต้องเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม
เป็นผักที่สามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ชอบดินโปร่ง อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตประมาณ 22-25 องศาเซลเซียส มีสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) อยู่ในช่วง 6-6.5 ความชื้นในดินสูงพอสมควร และได้รับแสงแดดเต็มที่ตลอดวัน
สำหรับช่วงแล้งเหมาะปลูกกะหล่ำปลีธรรมดา ที่สำคัญเป็นผักที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมบริโภค มีลักษณะหัวหลายแบบ ตั้งแต่หัวกลม หัวแหลมเป็นรูปหัวใจ จนถึงกลมแบนราบ มีสีเขียวจนถึงเขียวอ่อน เป็นพันธุ์ที่ทนร้อน อายุการเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 50-60 วัน เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ที่อยู่ประจำแปลงสาธิตแนะนำว่าการปลูกกะหล่ำปลีนั้นควรเริ่มต้นที่แปลงเพาะกล้าก่อนโดยเตรียมดินด้วยการขุดไถให้ลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร กว้าง 1 เมตร ยาวตามความต้องการ ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน แล้วคลุกด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ย่อยดินให้ละเอียดพอสมควร รดน้ำให้ชื้น แล้วทำการหว่านเมล็ดลงไป ควรพยายามหว่านเมล็ดให้กระจายบาง ๆ
ถ้าต้องการปลูกเป็นแถวก็ควรจะทำร่องไว้ก่อนแล้วหว่านเมล็ดตามร่องที่เตรียมไว้ คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งบาง ๆ เมื่อกล้าออกใบจริงประมาณ 1-2 ใบ ก็ทำการถอนแยกต้นที่แน่นหรืออ่อนแอทิ้ง
ที่นิยมปลูกในประเทศไทยจะเป็นกะหล่ำปลีพันธุ์เบา ระบบรากตื้น การเตรียมดินจึงควรลึกที่ประมาณ 18-20 เซนติเมตร ตากดิน 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักให้มาก เพื่อปรับสภาพของดิน และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยเฉพาะในดินทรายและดินเหนียว จากนั้นย่อยผิวหน้าดินให้มีขนาดก้อนเล็กแต่ไม่ต้องละเอียดจนเกินไป ถ้าดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดินให้มีความเหมาะสมต่อการปลูก
เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ประมาณ 25-30 วัน ก็ย้ายไปปลูกในแปลงปลูกที่เตรียมไว้ โดยให้มีระยะปลูก 30-40 x 30-40 เซนติเมตร การปลูกอาจปลูกเป็นแบบแถวเดียว หรือแถวคู่ก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของแปลงปลูก
ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยปล่อยไปตามร่องระหว่างแปลงประมาณ 7-10 วันต่อครั้ง ในเขตร้อนและแห้งแล้งจำเป็นต้องให้น้ำมากหน่อยในช่วงแรกและเมื่อกะหล่ำปลีเข้าปลีเต็มที่แล้วก็ลดปริมาณน้ำให้น้อยลง เพราะหากได้รับน้ำมากเกินไปจะทำให้ปลีแตกได้
การพรวนดินและกำจัดวัชพืช ในระยะแรก ๆ ควรปฏิบัติบ่อย ๆ เพราะวัชพืชจะเป็นตัวแย่งอาหารในดินรวมทั้งเป็นที่อาศัยของโรคและแมลงอีกด้วย
ส่วนแมลงศัตรูสำคัญส่วนใหญ่จะเป็นหนอนใยผัก ซึ่งเป็นหนอนผีเสื้อที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาหนอนผีเสื้อศัตรูผัก สามารถป้องกันได้โดยการใช้สารสกัดจากสะเดา โดยนำผลสดมาตากแห้งแล้วเอาเฉพาะเมล็ดใน ด้วยเมล็ดในสดที่แก่จัดจะมีสารออกฤทธิ์มากที่สุด ส่วนใบแก่มีสารออกฤทธิ์แต่น้อยกว่าเมล็ดมาก
นำเมล็ดในสะเดา 1 กก. บดจนป่นแล้วแช่น้ำ 20 ลิตร นาน 24 ชม. ก็จะได้หัวเชื้อ นำหัวเชื้อมาผสมในอัตราใช้ หัวเชื้อ 50-100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มทุก 3-5 วัน สามารถกำจัดศัตรูพืชได้ดีหลายชนิด อาทิ หนอนกระทู้ผัก หนอนหนังเหนียว หนอนใยผัก หนอนคืบ หนอนชอนใบ หนอนม้วนใบ หนอนแก้ว หนอนบุ้ง หนอนหลอดหอม หนอนเจาะต้นเจาะยอดและเจาะดอก หนอนหัวกะโหลก หนอนกอสีครีม หนอนลายจุดข้าวโพดหรือข้าวฟ่าง หนอนม้วนใบข้าว หนอนกอข้าว หนอนกระทู้ควายพระอินทร์ ด้วงเต่าฟักทอง ตั๊กแตน ไปจนถึงไส้เดือนฝอย
สนใจเข้าศึกษาแนวทางการปลูกหรือดูงานและรับข้อมูลได้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น.
ขอบคุณ... http://www.dailynews.co.th/agriculture/374366 (ขนาดไฟล์: 167)