สินค้าเกษตรปี 59 คาด ทิศทางดีขึ้น

สินค้าเกษตรปี 59 คาด ทิศทางดีขึ้น

ด้านผลผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ โคเนื้อ สุกร และน้ำนมดิบ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกันจากความต้องการของทั้งตลาดในและต่างประเทศ ส่วนผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมและกุ้งกุลาดำ

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวง เกษตรและสหกรณ์เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร ครั้งที่ 5/2558 ว่าที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลพยากรณ์ ซึ่งเป็นการคาดการณ์ครั้งแรกร่วมกันของปริมาณ ผลผลิตสินค้าเกษตรปี 2559

ซึ่งคาดว่าผลไม้ พืชผัก ยางพารา และปาล์มน้ำมันผลผลิตจะเพิ่มขึ้น โดยผลผลิตส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากเนื้อที่ให้ผลที่เพิ่มขึ้น และปริมาณน้ำฝนในช่วงปลายปี 2558

ประกอบกับสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงเดือนธันวาคม 2558 ถึง มกราคม 2559 จึงเหมาะสมกับการติดดอกออกผลของผลไม้และการเจริญเติบโตของพืชผัก

ด้านผลผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ โคเนื้อ สุกร และน้ำนมดิบ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกันจากความต้องการของทั้งตลาดในและต่างประเทศ ส่วนผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมและกุ้งกุลาดำผลผลิตเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โรคEMSที่คลี่คลาย และการคัดเลือกพันธุ์ลูกกุ้งคุณภาพ ปลอดโรค ในขณะที่ปลานิลและปลาดุกคาดว่าจะมีปริมาณลดลงบ้าง เนื่องจากคาดว่าเกษตรกรจะชะลอการลงทุน เพื่อลดผลกระทบภัยแล้งที่มีต่อเนื่องมาจากปี 2558

ด้านนายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขา ธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตรกล่าวถึงผลพยากรณ์ในส่วนของผลไม้ภาคตะวันออกว่า ผลผลิตทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง จะเพิ่มขึ้นทุกชนิด ซึ่งปริมาณผลผลิตโดยรวมอยู่ที่ 803,203 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 12 โดยผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2559

และจะออกกระจุกตัวสูงสุดในปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน 2559 โดยทุเรียนจะเริ่มออกผลผลิตในเดือนมีนาคม และออกมากในเดือนพฤษภาคม 2559 เงาะจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายน และออกมากในเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งจะแตกต่างจากปี 2558 เล็กน้อยที่ออกในช่วงเดือนมิถุนายน ส่วนมังคุดจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม 2559 และลองกองจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงตุลาคม 2559 โดยออกมากช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนสิงหาคม 2559

ด้านการส่งออกตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการผลไม้สดและผลิตภัณฑ์จากไทยเพิ่มขึ้น โดยผลไม้ที่มีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นในปี 2559 ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ ในปี 2557–2558 ของทุเรียน และลำไย ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จึงจูงใจให้เกษตรกรดูแลเอาใจใส่เพื่อให้ได้ผล ผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ในปี 2559 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคม ยังเป็นช่วงที่ผลผลิตพืชผัก ทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ออกสู่ตลาดมาก โดยผลผลิตกระเทียมคาดว่าใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แม้ว่าเนื้อที่เพาะปลูกจะลดลงจากราคาที่ไม่จูงใจ แต่ปริมาณน้ำและอุณหภูมิที่เหมาะสมจะทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น

ส่วนหอมหัวใหญ่ผลผลิตจะเพิ่มจากต้นกล้าที่สมบูรณ์ไม่เสียหายเหมือนปีที่แล้ว และผลผลิตมันฝรั่งเพิ่มขึ้นเนื่องจากการปรับปรุงด้านหัวพันธุ์ เน้นการใช้หัวพันธุ์ดี มีคุณภาพ แข็งแรง ต้านทานจากโรค

ในขณะที่ผลผลิตหอมแดงลดลง เป็นผลมาจากราคาที่ไม่จูงใจ ทำให้เกษตรกรลดเนื้อที่เพาะปลูก เปลี่ยนไปปลูกพืชผักชนิดอื่นแทน.

ขอบคุณ... http://www.dailynews.co.th/agriculture/371152 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: เดลินิวส์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 7 ม.ค.58
วันที่โพสต์: 7/01/2559 เวลา 13:19:25 ดูภาพสไลด์โชว์ สินค้าเกษตรปี 59 คาด ทิศทางดีขึ้น