ชงยุทธศาสตร์ไม้เศรษฐกิจ ปลูกป่าเพิ่ม 26 ล้านไร่
กรมป่าไม้นับหนึ่งลุยร่างยุทธศาสตร์และแผนส่งเสริมไม้เศรษฐกิจ ที่จะรวมไม้ยูคาลิปตัส-ยางพาราและอื่น ๆ ให้เป็นไม้เศรษฐกิจ วางเป้าหมายทั้งยุทธศาสตร์-แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคอุตสาหกรรมไม้ต้องเสร็จทันรัฐบาลชุดนี้ ด้านเอกชนติงให้รัฐแก้ไขตั้งแต่คำนิยามของป่า และควรส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้ที่ป้อนการผลิตพลังงานทดแทนด้วย
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กรมป่าไม้และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษา ได้เปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อร่างยุทธศาสตร์และแผนงานการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร ที่จะนำไปสู่การปลดล็อกให้กับอุตสาหกรรมไม้และสร้างมูลค่าให้กับไม้เศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวต้องการเพิ่มพื้นที่ปลูกไม้เศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 26 ล้านไร่ เพิ่มรายได้เฉลี่ยของเกษตรผู้ปลูกไม้เศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 420,000 บาท/คน/ปี และให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคป่าไม้ของประเทศไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้านบาท ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจ จัดหาพื้นที่รองรับการขยายตัว เพิ่มมาตรการทางการคลัง การเงิน รวมถึงระบบตลาดเพื่อสร้างแรงจูงใจ นอกจากนี้ต้องพัฒนาเกษตรกรและผู้ประกอบการไม้เศรษฐกิจ และพัฒนาระบบการรับรองป่าไม้ จากเดิมที่ไม่มีหน่วยงานมารับรอง
สาระสำคัญของร่างดังกล่าวแบ่งออกเป็น 7 ยุทธศาสตร์สำคัญคือ
1) พัฒนาและปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจ มีกฎหมายออกมากำกับดูแลทั้งระบบ ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจทั้งในและนอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ ควบคู่กับสร้างขีดความสามารถการแข่งขันด้านตลาดทั้งในและต่างประเทศ 2) จัดเตรียมพื้นที่รองรับการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจ เพื่อกำหนดพื้นที่ส่งเสริมให้ชัดเจน ลดความขัดแย้งด้านปัญหาที่ดินป่าไม้ 3) พัฒนามาตรการทางการคลัง การเงิน และระบบตลาด สร้างแรงจูงใจในการปลูกไม้เศรษฐกิจ กำหนดมาตรการทางการคลัง การเงินเพื่อส่งเสริมการปลูก 4) ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรและผู้ประกอบการ ผลักดันให้มีการตั้งกลุ่ม เช่น สมาคม ชมรม เครือข่ายเพื่อส่งต่อความรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ 5) วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไม้เศรษฐกิจ 6) เพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารงานเพื่อส่งเสริมไม้เศรษฐกิจ และ 7) พัฒนาระบบรับรองป่าไม้ คือ การขึ้นทะเบียน การรับรองที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้จะเร่งผลักดันยุทธศาสตร์ไม้เศรษฐกิจให้เป็นรูปธรรมภายในรัฐบาลชุดนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเน้นเพิ่มพื้นที่ป่า และการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพราะในอนาคตมีการประเมินแล้วว่าสวนป่าธรรมชาติจะลดลง สำหรับพื้นที่ป่าเศรษฐกิจตามร่างนี้คือ พื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ และพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ หรือพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม ซึ่งจะต้องมาพิจารณาว่าจะบริหารจัดการอย่างไร และสิ่งสำคัญที่จะต้องผลักดัน
คือ กฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมไม้ ทั้งนี้สำหรับชนิดของไม้ที่จะกำหนดให้เป็นไม้เศรษฐกิจ ในเบื้องต้นจะรวมไม้ยูคาลิปตัสและไม้ยางพาราเข้ามาไว้ในร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวด้วย
“กรมป่าไม้รวบรวมข้อมูลมากว่า1 ปี แต่การผลักดันยุทธศาสตร์รอบนี้ ถือเป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น่าจะเห็นภาพชัดขึ้นเร็ว ๆ นี้ หลังจากนี้จะลงลึกถึงว่าหน่วยงานใดที่จะเข้ามาดูแล และนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งต้องรอดูว่าร่างดังกล่าวรวมไปจนถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่จะจัดทำจะผ่านการพิจารณาจากรัฐบาลหรือไม่”
ด้านนายวัฒนพงษ์ ทองสร้อย สมาคมการค้าชีวมวลไทย กล่าวว่า ต้องการให้ภาครัฐปรับปรุงตั้งแต่คำนิยามของคำว่าป่า ในพระราชบัญญัติป่าไม้ที่ใช้ในปัจจุบันให้ชัดเจนมากขึ้น และเพิ่มเติมนิยามของป่าเศรษฐกิจให้ชัดเจนด้วย รวมถึงการกำหนดไม้บางประเภทว่าเป็น “ไม้หวงห้าม” นั้น ภาคเอกชนมองว่าจะหวงห้ามทำไม ในเมื่อไม้เหล่านั้นมีประโยชน์และมีมูลค่า
นอกจากนี้ในร่างดังกล่าวไม่มีการระบุถึงการใช้ประโยชน์จากไม้ในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่กำลังขยายตัวต่อเนื่อง และขอให้เพิ่มรายละเอียดส่วนนี้ลงไปด้วย
ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ
ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_33492