มาตรการลดต้นทุน เพิ่มโอกาสการแข่งขันนำเกษตรกรไทยพ้นวิกฤติ

มาตรการลดต้นทุน เพิ่มโอกาสการแข่งขันนำเกษตรกรไทยพ้นวิกฤติ

ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตภาคเกษตรและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน มีแนวทางการขับเคลื่อนอยู่ 4 ด้าน ได้แก่ การลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิตต่อหน่วย การบริหารจัดการ และการตลาด โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเกษตรกรมีต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ผลผลิตได้มาตรฐาน มีตลาดรองรับสินค้าที่แน่นอน นำมาสู่รายได้ที่ดีขึ้นของเกษตรกรไทย

มาตรการลดต้นทุน เพิ่มโอกาสการแข่งขันนำเกษตรกรไทยพ้นวิกฤติ

จริยา สุทธิไชยา

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เพื่อให้การ

ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีอยู่ 6 เรื่องหลัก ได้แก่ การลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสการแข่งขันสินค้าเกษตร การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (โซนนิ่ง) ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และธนาคารสินค้าเกษตรมีความชัดเจนมากขึ้น ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) เพื่อเป็นกลไกในการบูรณาการขับเคลื่อนนโยบาย ไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับมาตรการลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญ และขณะนี้เห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ประการแรกคือ การลดต้นทุนราคาปัจจัยการผลิต ทั้งค่าปุ๋ยเคมี สารเคมี โดยได้รับความร่วมมือจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่ประกาศลดราคาปัจจัยการผลิต ปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆ ที่มีความจำเป็นในการเพาะปลูกพืช โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ลดมาจากปกติ 5-10% ประการที่สอง ลดต้นทุนค่าพันธุ์พืช โดยกรมการข้าวได้ประกาศลดราคาจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวจากราคาเดิมลงมาอีก 1 บาทต่อ กก. ประการที่สาม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้ลดค่าเช่าที่ดิน ยกเว้นการเก็บค่าเช่าที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นเวลา 1 ปี ขยายเวลาการชำระหนี้และลดอัตราดอกเบี้ย จาก 4% เหลือ 2%

นอกจากนี้ จากการประชุมคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง เรื่องการลดค่าเช่าที่นา ซึ่งแต่เดิมกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการลดค่าเช่าที่นาให้ถูกลงเหลือ 800-1,000 บาทต่อไร่ โดยเบื้องต้นมีความเห็นว่าอาจจะสามารถลดค่าเช่านาลงให้ต่ำกว่าปัจจุบัน เนื่องด้วยเกษตรกรหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง บวกกับภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งค่าเช่าที่นา เป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่เกษตรกรต้องแบกรับ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลการคิดค่าเช่านาที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่ เพื่อส่งข้อมูลให้กับกระทรวงมหาดไทยพิจารณาปรับลดค่าเช่าที่นาต่อไป

มาตรการลดต้นทุน เพิ่มโอกาสการแข่งขันนำเกษตรกรไทยพ้นวิกฤติ

ต้นทุนสำคัญอีกอย่างของเกษตรกร โดยเฉพาะที่ทำฟาร์มปศุสัตว์และประมง ได้แจ้งข้อมูลผ่านกรมปศุสัตว์ กรมประมงว่าต้นทุนการผลิตส่วนหนึ่งของเขาคือ ค่าไฟฟ้า สศก. จึงได้เชิญผู้แทนจากกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการกิจการพลังงาน เพื่อหารือเรื่องค่าไฟฟ้าที่เป็นต้นทุนหนึ่งของเกษตรกรและไม่เคยปรับลดมาก่อน ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นมีอยู่ 2 เรื่อง คือ ยกเว้นการเก็บค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี ให้กับเกษตรกร และการลดค่าความต้องการใช้ไฟฟ้า

(ดีมานด์ชาร์จ) ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ต้องเสนอเรื่องดังกล่าวไปที่กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเห็นชอบและนำเรื่องเข้าสู่ ครม. พิจารณาอนุมัติจึงจะดำเนินการได้ หากสามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับเกษตรกรซึ่งนับเป็นเรื่องใหม่ ผนวกกับการลดต้นทุนก่อนหน้าทั้งปัจจัยการผลิต พันธุ์พืช ปศุสัตว์ ประมง ค่าเช่าที่ดิน ค่าเช่าที่นา ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรลดต่ำลงอย่างเด่นชัด

อย่างไรก็ดี มาตรการการลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันแม้จะดำเนินการเพื่อเกษตรกรทุกคน แต่ที่จะเน้นเป็นพิเศษคือในระบบเกษตรแปลงใหญ่ จะมีมาตรการจูงใจ ด้านเงินทุน สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่มีความเชื่อมั่นในระบบ ที่

ขับเคลื่อนตามแนวประชารัฐ คือมี 4 ประสาน ได้แก่ หน่วยงานรัฐ คือกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ถ่ายทอดองค์ความรู้ ร่วมกับสถาบันการเงิน เช่น ธ.ก.ส. ออมสิน เป็นแหล่งเงินทุน บวกภาคธุรกิจเอกชนที่มารองรับด้านการตลาด และเกษตรกรผู้ผลิตในระบบแปลงใหญ่ ที่มีการรวมกลุ่มผลิตสินค้าคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งเชื่อมั่นว่าระบบเกษตรแปลงใหญ่คือตัวชี้วัดที่สามารถตอบสนองนโยบายลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตรได้เป็นอย่างดี เมื่อเกษตรกรนอกพื้นที่แปลงใหญ่ได้เห็นความแตกต่างหรือความสำเร็จของแปลงใหญ่ทั้ง 76 แปลง รวมทั้งแปลงต้นแบบอีก 192 แปลง ก็จะเข้ามาสู่ระบบนี้มากขึ้น ส่งผลให้การขับเคลื่อนนโยบายแปลงใหญ่หรือ โซนนิ่งขยายผลได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากมาตรการต่างๆ ที่ลงไปถึงเกษตรกร น่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้ไม่ต่ำกว่า 15% จากการสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรในแปลงใหญ่รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างสนับสนุนการผลิตเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพราะทำให้เกิดการรวมตัว ผลิตสินค้าแบบประณีต มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ฉะนั้น เห็นว่าแปลงใหญ่น่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งของการปฏิรูปภาคเกษตรของไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต และเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการนำพาภาคเกษตรไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ขอบคุณ... http://www.naewna.com/local/204546

ที่มา: naewna.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 29 ก.พ.59
วันที่โพสต์: 29/02/2559 เวลา 10:38:10 ดูภาพสไลด์โชว์ มาตรการลดต้นทุน เพิ่มโอกาสการแข่งขันนำเกษตรกรไทยพ้นวิกฤติ