เร่งเครื่องแผนงานผลิตข้าวครบวงจร
จุดเด่นของการผลิตข้าวในประเทศไทยคือมีองค์ความรู้มากมาย ทั้งทางด้านวิชาการซึ่งหลายหน่วยงานให้ความสนใจพัฒนาองค์ความรู้ด้านข้าวมาอย่างต่อเนื่อง
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นความสำคัญของการดูแลข้าวทั้งระบบของประเทศ เนื่องจากเป็นวิถีชีวิตของคนไทย เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นชาวนา และเรื่องข้าวเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ในหลายภาคส่วน
จึงได้มอบนโยบายให้กรมการข้าวซึ่งนอกจากจะดูแลด้านการวิจัย การผลิตเมล็ดพันธุ์และกระจายเมล็ดพันธุ์ การส่งเสริมการผลิตให้มีคุณภาพดีแล้ว ยังให้เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลงานด้านข้าวของประเทศครบทั้งวงจรโดยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติเองทั้งหมด เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตข้าวที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดของโลกให้ได้
“จุดเด่นของการผลิตข้าวในประเทศไทยคือมีองค์ความรู้มากมาย ทั้งทางด้านวิชาการซึ่งหลายหน่วยงานให้ความสนใจพัฒนาองค์ความรู้ด้านข้าวมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีองค์ความรู้ที่มาจากปราชญ์ชาวบ้าน อีกประการหนึ่งคือสภาพภูมิประเทศมีความเหมาะสมกับการผลิตข้าวคุณภาพ แต่ด้วยภาวะการแข่งขันสินค้าข้าวมีค่อนข้างสูง ทำให้เราประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงเนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำของเราสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จึงต้องปรับเปลี่ยนแข่งขันในด้านคุณภาพการผลิตข้าวโดยมีกรมการข้าวเป็นแม่งานหลักในการดูแลยุทธศาสตร์ข้าวทั้งระบบ จึงมีคำสั่งการให้กรมการข้าวตั้งทีมในการวางระบบงานผลิตข้าวครบวงจร และประสานงานให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนงานข้าวของประเทศไปในทิศทางเดียวกัน” นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าวกล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและบริการจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งมีพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปฏิรูปการผลิตข้าวโดยบูรณาการทำงานร่วมกัน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ในการจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาข้าวในปัจจุบันโดยมี 2 ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง คือ
1. ยุทธศาสตร์การผลิตข้าวซึ่งมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์วางแผนการผลิตในปี 2559/2560 ทั้งนาปีและนาปรัง ให้สอดคล้องกับความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้การตลาดนำการผลิต ซึ่งได้กำหนดอุปสงค์รวมประมาณ 25 ล้านตันข้าวเปลือก และกำหนดเป้าหมายการผลิตประมาณ 27 ล้านตันข้าวเปลือก และขับเคลื่อนร่วมกับกระทรวงมหาดไทยประกาศเป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าวในพื้นที่ตามชนิดพันธุ์ที่เหมาะสม เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวสี และข้าวอินทรีย์
และ 2. ยุทธศาสตร์การตลาดขับเคลื่อนโดยกระทรวงพาณิชย์วางแผนการตลาดข้าวครบวงจรทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ กรมการข้าวยังมีได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการกำหนดให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุน และเพิ่มโอกาสการแข่งขัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปข้าวด้วยการส่งเสริมการทำนาแปลงใหญ่โดยให้ชาวนารวมกลุ่มวางแผนการผลิตข้าว บริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงการตลาด และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการส่งเสริมการทำนาแปลงใหญ่ในรูปแบบการทำนาเชิงอุตสาหกรรมครบวงจร ซึ่งพบว่าชาวนามีความพึงพอใจในต้นทุนที่ลดลงและมีพื้นฐานการบริหารจัดการทำนาที่เข้มแข็ง ดังนั้น ปัจจุบันได้ส่งเสริมนาแปลงใหญ่กว่า 300 แปลง ของเครือข่ายทั้งประเทศ
และพัฒนาการเชื่อมโยงตลาดให้มากขึ้น เช่นการจับมือภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วม ทั้งสภาหอการค้า โรงสีข้าวให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าวเปลือก และพัฒนาการแปรรูปผลผลิตข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยมีภาครัฐเข้ามาส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวนาอย่างยั่งยืนต่อไป.
ขอบคุณ... http://www.dailynews.co.th/agriculture/393596 (ขนาดไฟล์: 167)