อานิสงส์มาตรการรัฐ หนุนเที่ยวสงกรานต์ กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวได้จริงหรือ?

อานิสงส์มาตรการรัฐ หนุนเที่ยวสงกรานต์ กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวได้จริงหรือ?

วันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีไทย เป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่ใครหลายคนเฝ้ารอคอยให้มาถึง เพราะจะได้หยุดพักจากการทำงาน ได้ใช้เวลาไปกับการพักผ่อนท่องเที่ยวพร้อมครอบครัว ในปีนี้เทศกาลสงกรานต์ มีวันหยุดต่อเนื่องถึง 5 วัน ในระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน 2559 ซึ่งน่าจะเป็นนาทีทองสำหรับผู้ประกอบการ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม ที่พักต่างๆ

วันสงกรานต์ อีกหนึ่งเทศกาลที่ใครหลายคนรอคอย

ขณะที่ ทางรัฐบาลเองก็มีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้านประชารัฐ มาตรการลดหย่อนภาษี กิน-เที่ยว เพื่อหนุนให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้น และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตคึกคักตามที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้หรือไม่?

"ไทยรัฐออนไลน์" ได้สัมภาษณ์ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้บอกภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไว้ว่า เศรษฐกิจจะได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายการบริโภคและการท่องเที่ยว แต่มาตรการเหล่านี้จะแสดงผลในระยะที่สั้นมากๆ

ข้อดีสำหรับมาตรการนี้คือ ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มทยอยเข้าสู่ระบบภาษีและจัดทำข้อมูลทางบัญชีที่เป็นมาตรฐานมีความโปร่งใสขึ้น เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการ ซึ่งการที่รัฐบาลสูญเสียรายได้จากมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ก็จะได้รับการทดแทนจากภาษีมูลค่าเพิ่มและผลกำไรของกิจการท่องเที่ยวที่จะเก็บได้มากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ก็ยังไม่สามารถประมาณการตัวเลขได้ชัดเจน เพราะขึ้นอยู่กับการตอบสนองของประชาชน

คาด ช่วงสงกรานต์ จะมีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจท่องเที่ยว และร้านอาหาร รวม 36,100 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งระบุว่า การใช้มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ของรัฐบาล จะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหารในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีภาษีเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติที่ไม่มีมาตรการอีก 2,600 ล้านบาท และคาดการณ์ว่า ตลอดเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจท่องเที่ยว และร้านอาหารรวม 36,100 ล้านบาท แบ่งเป็นเม็ดเงินใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ปี 59 ประมาณ 24,100 ล้านบาท และการใช้จ่ายในธุรกิจร้านอาหารอีก 12,000 ล้านบาท

ส่วนทาง นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยเช่นเดียวกันว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์วันที่ 13-17 เมษายนนี้ คาดว่าจะมีรายได้ทางการท่องเที่ยวสะพัดกว่า 15,160 ล้านบาท เติบโต 18% จากปีก่อน และมีจำนวนนักท่องเที่ยว 2.64 ล้านคน โต 6% แบ่งเป็นรายได้จากตลาดคนไทยเที่ยวไทย 6,980 ล้านบาท เติบโต 3.5% มีจำนวนนักท่องเที่ยว 2.14 ล้านคนต่อครั้ง เติบโต 2% ขณะที่ตลาดต่างประเทศจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทย 495,000 คน โต 26% สร้างรายได้สะพัด 8,180 ล้านบาท โต 34%

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตลาดต่างประเทศมีจำนวนเที่ยวบินเช่าเหมาลำและเที่ยวบินพิเศษ ที่ขออนุญาตบินเข้ามาในช่วงนี้กว่า 94 เที่ยวบิน รวมจำนวนที่นั่งบิน 21,828 ที่นั่ง โดยประเทศที่บินมามากที่สุดคือ จีน เกาหลีใต้ รัสเซีย เดนมาร์ก ญี่ปุ่น เมียนมา สหราชอาณาจักร สวีเดน ฟินแลนด์ อิหร่าน และไต้หวัน ขณะที่ตลาดไทยเที่ยวไทยยังโตได้ไม่มากเนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ประชาชนระมัดระวังการจับจ่าย รวมถึงวิกฤติภัยแล้งส่งผลกระทบต่อความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น

หนุนมาตรการลงทุนสู้ภัยแล้ง เชื่อ เห็นผลยั่งยืน

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า กลุ่มคนที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภัยแล้ง จึงควรเน้นใช้มาตรการลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งจะมีผลบวกต่อเศรษฐกิจยั่งยืนกว่า

เมื่อมองเศรษฐกิจไตรมาสแรกโดยเฉพาะภาคการบริโภคจะเห็นว่าชะลอลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงปลายปี พ.ศ. 2558 ที่ได้มาตรการลดหย่อนภาษีมากระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน แต่เม็ดเงินที่ออกมาก็ยังไม่กระจายตัวไปสู่กิจการขนาดเล็กขนาดย่อยมากเท่าที่ควร เพราะส่วนใหญ่ยังคงกระจุกอยู่ในเครือข่ายของกิจการค้าปลีกยักษ์ใหญ่

ในปลายปีก่อนได้มีการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตในปีนี้ โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทน ที่ในเดือนมกราคมกลับมาหดตัวติดลบถึง 6.3% แต่เชื่อว่าจะกระเตื้องขึ้นในไตรมาสสอง ซึ่งตัวมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวก็จะช่วยบรรเทาปัญหาการชะลอตัวได้บ้าง ซึ่งก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย

ส่งออกต้นปีหดตัว แต่เชื่อกลางปีฟื้นแน่!

ภาคการส่งออกของไทย หากดูจากเดือนมกราคมที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการหดตัวสูงถึง 9.3% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน คาดว่าในเดือนมีนาคมก็อาจจะกลับมาติดลบอีกประมาณ 5% หลังจากฟื้นตัวเป็นบวกเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกทองคำที่มากเป็นพิเศษ ขณะที่มูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทยังดีอยู่ โดยพยากรณ์ว่า เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังจะกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจนจากภาคการลงทุน ซึ่งการลงทุนมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 7% จากที่คาดการณ์ไว้เพียง 6.5% โดยในภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวอาจทะลุ 33 ล้านคน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.7-1.8 ล้านล้านบาทได้

กูรู คาด เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังจะกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจนจากภาคการลงทุน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวได้มากกว่า 3% คือ รัฐบาลยังทำขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก 2.9 แสนล้านในปีงบประมาณ 2558 เป็น 3.9 แสนล้านในปีงบประมาณ 2559 การเบิกจ่ายนอกงบประมาณปรับตัวดีขึ้น การอ่อนตัวของเงินบาทสนับสนุนรายได้เงินบาทของผู้ประกอบการท่องเที่ยวและส่งออก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4.7 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ หากไม่มีวิกฤติรัฐธรรมนูญ เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้ตามที่คาดการณ์ 3.2-4% และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมากที่สุด 3.2-3.5% แต่ก็ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่ควรเติบโตได้ในระดับ 4-6%

โดยปัจจัยมาจากอัตราการขยายตัวของการนำเข้าที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า การส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนอาจจะมีการขยายตัวในระดับต่ำหรืออาจติดลบได้ในบางเดือนในช่วงไตรมาสสอง ขณะที่ การใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำกว่า 3.5% จากการที่อัตราการเติบโตของการส่งออกอาจจะขยายตัวติดลบเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน คาดการณ์ว่า ไตรมาสแรกส่งออกน่าจะติดลบประมาณ 5% อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออกสุทธิยังคงเป็นบวกและมีการเกินดุลการค้าค่อนข้างสูงจึงเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย โดยมีการปรับตัวเลขการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการส่งออกจาก 4% ลงมาเหลือ 0-2%

กูรู ชี้เศรษฐกิจหลังสงกรานต์ อยู่ที่การลงทุนภาครัฐ

กูรู ชี้เศรษฐกิจหลังสงกรานต์ อยู่ที่การลงทุนภาครัฐ

เมื่อถามถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจหลังจากผ่านเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการฯ ได้แสดงทรรศนะไว้อย่างน่าสนใจว่า เศรษฐกิจหลังสงกรานต์ก็ขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ การลงทุนภาคเอกชน ประเด็นการควบคุมการก่อการร้ายในยุโรปและการออกจากอียูของอังกฤษ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งปีหลัง และต้องจับตาการลงประชามติรัฐธรรมนูญว่าผลออกมาอย่างไร ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนและการบริโภคนั่นเอง

กูรู ชี้เศรษฐกิจหลังสงกรานต์ อยู่ที่การลงทุนภาครัฐ

ทั้งหมดนี้คือ ภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ แต่ไม่ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะเป็นไปอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดในช่วงเทศกาลนี้คงเป็นการที่ทุกคนได้ใช้เวลาพบปะสมาชิกในครอบครัว เล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน และเที่ยวพักผ่อนกัน เติมพลังกาย พลังใจอย่างเต็มที่ ก่อนกลับมาทำงานที่เรารักกันต่อไป

ขอบคุณ... http://www.thairath.co.th/content/600977

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 11 เม.ย.59
วันที่โพสต์: 11/04/2559 เวลา 10:09:54 ดูภาพสไลด์โชว์ อานิสงส์มาตรการรัฐ หนุนเที่ยวสงกรานต์ กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวได้จริงหรือ?