จัดทำแผนที่เขตความเหมาะสมของที่ดิน เพื่อการผลิตสินค้าเกษตรระดับประเทศ
จัดทำแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุก เพื่อใช้เป็นแผนที่สำหรับบริหารจัดการการเกษตรรายจังหวัด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต ในมิติของปัจจัยการผลิต อุปสงค์และอุปทาน
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การจัดโซนนิ่งภาคเกษตรหรือการบริหารจัดการพื้นที่เกษตร กรรม เป็นนโยบายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จากนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็น 1 ใน 6 นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ
คือ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม โดยให้กรมพัฒนาที่ดิน เป็นผู้ประสานงานและรวบรวมข้อมูลพื้นที่ความเหมาะสมของพืชเศรษฐกิจ ประมง ปศุสัตว์ และให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งได้จัดทำแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุก เพื่อใช้เป็นแผนที่สำหรับบริหารจัดการการเกษตรรายจังหวัด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต ในมิติของปัจจัยการผลิต อุปสงค์และอุปทาน
อันจะแสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่ใน การเพาะปลูกพืชของแต่ละจังหวัด ว่ามีความเหมาะสมกับชนิดของดิน ปริมาณน้ำ ชนิดพืชหรือไม่ หากไม่มีความเหมาะสมจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความสมดุล เพื่อบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และอนาคตได้ สามารถช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรได้อย่างตรงจุด ซึ่งได้นำเสนอ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ปรับปรุงด้านข้อมูลเพิ่มเติม คาดว่าจะสามารถแจกจ่ายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ได้ภายในเดือน เม.ย. 2559 นี้ และกระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อนประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก คือ 1. การเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ 2. กำหนดแนวโน้มความต้องการตลาดสินค้าเกษตร 3. กำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตร4. การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ 5. การติดตามประเมินผล
ซึ่งระยะแรกได้ดำเนินการในมาตรการแรกเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ โดยการประชา สัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในวงกว้างสู่สาธารณะและเกษตรกร ถึงประโยชน์ของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งในภาพรวมของประเทศและท้องถิ่น
โดยในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2559 มีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและรับทราบถึงความสำคัญและประโยชน์ของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม โดยผ่านกระบวนการประชุมและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ
ส่วนมาตรการที่สองและที่สาม เป็นการดำเนินการคู่ขนานกันไปพร้อมกันโดยในมาตรการที่สอง เป็นการกำหนดแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตร ดำเนินการโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และมาตรการที่สามกำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตรระดับประเทศ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการจัด ทำแผนที่เขตความเหมาะสมของที่ดินสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรระดับประเทศและระดับจังหวัดรายชนิดพืช สำหรับพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา
ทั้งนี้ได้จัดส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด จัดทำแผนที่เขตความเหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตรระดับอำเภอ รายชนิดพืชให้กับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ที่มีอยู่อำเภอละ 1 ศูนย์ ทั้ง 76 จังหวัด เป็นจำนวน 882 ศูนย์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนและส่งเสริมในระดับพื้นที่ต่อไป.
ขอบคุณ... http://www.dailynews.co.th/agriculture/388900 (ขนาดไฟล์: 167)