เกษตรกรทำสวนควนเมา จ.ตรัง สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี59
กลุ่มนี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเกษตรกรที่ทำสวนยางพาราพื้นที่จังหวัดตรัง โดยในปี พ.ศ. 2527 กลุ่มฯ ได้คิดริเริ่มทำโครงการยางแผ่นรมควัน ซึ่งแปรรูปมาจากน้ำยางสดเป็นรายแรกของจังหวัดตรัง
ในปี 2559 นี้ มีเกษตรกรสถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ดีเด่นที่ได้รับการคัดเลือกและได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2559 เมื่อวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวงที่ผ่านมา ได้แก่ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 16 สาขาอาชีพ สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 13 กลุ่ม สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 สหกรณ์ และ ปราชญ์เกษตรแห่งแผ่นดิน จำนวน 3 สาขา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกลุ่มเกษตรกรทำสวนควนเมา จังหวัดตรัง
โดยกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเกษตรกรที่ทำสวนยางพาราพื้นที่จังหวัดตรัง โดยในปี พ.ศ. 2527 กลุ่มฯ ได้คิดริเริ่มทำโครงการยางแผ่นรมควัน ซึ่งแปรรูปมาจากน้ำยางสดเป็นรายแรกของจังหวัดตรัง และเป็นรายต้น ๆ ของประเทศที่ดำเนินการโดยกลุ่มเกษตรกรโดยตรง
โดยในปี พ.ศ. 2549 กลุ่มฯ ได้คิดริเริ่มที่จะขายยางแปรรูปให้กับบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ โดยตรงแบบไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และสามารถขายยางได้ในปี พ.ศ. 2552 ขณะเดียวกันกลุ่มฯ ก็มีโรงอัดก้อนยางพร้อมอุปกรณ์และโกดังเก็บยางขนาด 500 ตัน พร้อมทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายและมีลูกข่าย 4 สถาบันเกษตรกรในพื้นที่และใช้ชื่อกลุ่มว่าเครือข่ายรัษฎา
ทำหน้าที่บริหารจัดการหาตลาดยาง พารามาจัดสรรให้กับลูกข่าย โดยแม่ข่ายจะขายยางในราคาที่สูงกว่าตลาดกลางยางพาราสงขลาไม่น้อยกว่ากิโลกรัมละ 4 บาท แล้วนำรายได้ส่วนต่างมาจัดสรรให้กับลูกข่ายในสัดส่วนที่เท่ากัน และในการนำยางเข้าโรงอัดก้อนฯ ของลูกข่าย จะเป็นไปแบบการนำสินค้ามาฝากเพื่อแปรรูป มีการจัดทำสต๊อกยางแยกเป็นรายสถาบัน โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการขายและการผลิต ยกเว้นค่าแรงงาน ลูกข่ายต้องจ่ายให้กับคนงานโดยตรง นอกนั้นแม่ข่ายจะเป็นผู้สำรองค่าใช้จ่ายให้
เมื่อผู้ซื้อจ่ายเงิน ทางแม่ข่ายจะหักบัญชีของกลุ่ม ประกอบด้วยค่าขายผ่านบัญชีแม่ข่ายในอัตรากิโลกรัมละ 0.20 บาท และค่าบำรุงโรงอัดก้อนยางพาราในอัตรากิโลกรัมละ 0.15 บาท จากนั้นจึงแบ่งปันเงินกลับไปยังลูกข่าย สำหรับต้นทุนในการแปรรูปเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแล้วจะไม่เกิน 2 บาทต่อกิโลกรัม
และลูกข่ายจะมีกำไรไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งการขายได้ในราคาที่สูงแบบนี้ เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรว่าสามารถยกระดับราคายางให้กับสมาชิกของแม่ข่ายและสมาชิกของลูกข่ายได้ ซึ่งสูงกว่าท้องตลาดทั่วไปกิโลกรัมละ 2-3 บาท อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
และปี 2558 ที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรทำสวนควนเมาได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรแปรรูปยางพาราภายใต้แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบของรัฐบาลทุกโครงการ และมีการกู้เพื่อลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปยางพารารมควันและทำผลิตภัณฑ์ยางขนาด 500 ตันเพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิต เพิ่มขีดความสามารถและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกรเครือข่ายรัษฎาโดยตรง และโรงอัดก้อนฯ ตามโครงการฯ ได้เปิดใช้งานแล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา
ในการดำเนินการของเครือข่ายรัษฎาดังกล่าวยังผลให้สมาชิกจำนาน 90% ของทั้งหมดได้ขายยางพาราในราคาที่สูงกว่าราคาท้องตลาดในอัตรากิโลกรัมละ 2-3 บาท ขณะที่สถาบันเกษตรกรเครือข่ายได้รับส่วนแบ่งการตลาดในปริมาณที่เท่ากันต่อหน่วยการขาย และได้ราคาที่สูงกว่าราคาตลาดกลางยางพาราสงขลา กิโลกรัมละ 4-6 บาท ซึ่งรายได้นี้นับว่าเอื้อต่อการนำไปยกระดับราคาให้กับสมาชิกของลูกข่ายได้เป็นอย่างดี
และนี่คือความโดดเด่นของกลุ่มเกษตรกรทำสวนควนเมา จังหวัดตรัง ในการบริหารจัดการธุรกิจที่รับผลผลิตภาคการ เกษตรของเกษตรกรในพื้นที่มาบริหารจัดการ นำมาซึ่งรายได้ที่มากกว่ากับการขายตรงต่อพ่อค้าทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งนับว่าเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการนำมาเป็นต้นแบบในการดำเนินการของกลุ่มเกษตรกรที่ทำสวนยาง พาราทั่วประเทศได้เป็นอย่างดี.