ศูนย์เรียนรู้กลุ่มเกษตรกรสวนผสมผสาน อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
กลุ่มเกษตรกรทำสวนผสมผสาน ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นเกษตรกรที่รวมกลุ่มกันทำการเกษตรแบบผสมผสาน เข้าไปให้การสนับสนุนเรื่องการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการตามรูปแบบของสหกรณ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักและห่วงใยในทุกข์สุขของพสกนิกรไทยยิ่งนัก เห็นได้จากพระราชดำรัส เรื่อง ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้พระราชทานไว้ถึง 2 ครั้งในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ปี 2540 และ 2541 ที่ผ่านมา
และได้มีการขานรับไปปฏิบัติกันหลากหลายในหลายหน่วยงาน ด้วยทุกภาคส่วนสามารถนำแนวพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้ เพราะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเปรียบเสมือนการปักเสาเข็มก่อนจะสร้างบ้าน เป็นการวางรากฐานของบ้านให้มั่นคงก่อนจะก่อสร้างตัวบ้านต่อไป
โดยเฉพาะหน่วยงานราชการที่ให้การส่งเสริมสนับสนุนการประกอบอาชีพของราษฎร โดยเฉพาะเกษตรกรต่างได้น้อมนำมาปฏิบัติด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรในโครงการต่าง ๆ ได้นำไปปฏิบัติใช้ อย่างเช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์ หน่วยงานภาครัฐ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปส่งเสริมสนับสนุนให้สหกรณ์ต่าง ๆ นำไปปฏิบัติ จนประสบความสำเร็จอย่างเป็นที่น่าพอใจยิ่งในหลายพื้นที่
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เปิดเผยว่าการน้อมนำแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้น้อมนำมาถือปฏิบัติ ในการส่งเสริมและรณรงค์เกษตรกรทุกคนได้นำแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ ก่อเกิดความเข้มแข็งในอาชีพ และสร้างความผาสุกให้กับครัวเรือน ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รณรงค์ให้เกษตรกรได้นำไปถือปฏิบัติในฟาร์มหรือไร่นาของตัวเองเพื่อทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการผลิต และมีรายได้จากอาชีพ มีความสุขในชีวิต
ดังเช่นกลุ่มเกษตรกรทำสวนผสมผสาน ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นเกษตรกรที่รวมกลุ่มกันทำการเกษตรแบบผสมผสาน ที่ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าไปให้การสนับสนุนเรื่องการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการตามรูปแบบของสหกรณ์ ในลักษณะของการรวมการผลิต และรวมกันขาย จนก่อเกิดรายได้อย่างมั่นคงให้กับกลุ่มเกษตรกรเป็นอย่างดี
น.ส.บัวลี บุดดีคำพา ประธานศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ เปิดเผยว่าเดิมศูนย์ฯ มีสมาชิกกลุ่ม 200 คน ปฏิบัติงานอยู่ในศูนย์ 10 คน อีกส่วนหนึ่งไปประกอบอาชีพทั่วไป มี 10 กลุ่มย่อย เช่น กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กลุ่มทอผ้าฝ้าย กลุ่มขนมไทย กลุ่มนวดแผนไทย กลุ่มจักสานผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ กิจกรรมทุกอย่างเราจะต้องมารวมกันที่ศูนย์เรียนรู้ ส่วนภาคการเกษตรมี 3 กลุ่ม ได้รับการสนับสนุนจากรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น เข้ามาให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการตามหลักการสหกรณ์ สอนการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีทำให้ทุกคน ทุกฝ่ายของศูนย์ในตอนนี้รู้เรื่องและเข้าใจในแนวทางการบริหารจัดการทุกคน
นับเป็นการพัฒนาชุมชนภายใต้การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้อย่างแท้จริง ด้วยการใช้คนเป็นเป้าหมาย และเน้นการพัฒนาแบบองค์รวม หรือการพัฒนาอย่างบูรณาการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การเมือง โดยใช้พลังทางสังคมเป็นกลไกในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาในรูปของกลุ่มเครือข่ายหรือประชาสังคม
และเป็นการผนึกกำลังของทุกฝ่าย ในลักษณะพหุภาคี ที่ประกอบด้วยภาครัฐ เอกชน และประชาชนซี่งก็คือระบบสหกรณ์ มาส่งเสริมสนับสนุนจนก่อเกิดผลสำเร็จดังที่ปรากฏของชุมชนแห่งนี้.