กรมพัฒนาที่ดินเดินหน้าแผนที่ฐานข้อมูลเกษตร
จากนโยบายของรัฐบาลที่ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งขับเคลื่อนภาคเกษตรไทย ไปสู่การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับเกษตรกรโดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก. 882 ศูนย์)
รวมถึงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่และการทำเกษตรในพื้นที่เหมาะสม (โซนนิ่ง) ทั้งนี้กลไกหนึ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำมาใช้คือ แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกหรือ Agri-Map (Agricultural Map for Adaptive Management) เป็นแผนที่ที่ครอบ คลุมพื้นที่จังหวัด มีการทับซ้อนข้อมูลด้านเกษตรทุกอย่างไว้ด้วยกัน
โดย พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง แนวคิดการจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก สำหรับรวบรวมข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ของทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย พร้อมกับสามารถติดตามข้อมูลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง รอบด้าน ครอบคลุมการนำไปใช้ประโยชน์ทุกด้าน ที่สำคัญเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับข้อมูลด้านการเกษตร ซึ่งสามารถตอบโจทย์การช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรไทยในรายพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
สำหรับข้อมูลในการจัดทำ Agri-Map จะประกอบไปด้วยข้อมูลหลักด้านการเกษตร เช่น น้ำ ดิน พืช ประมง การตลาด โลจิสติกส์ และข้อมูลประกอบอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น ขอบเขตการปกครอง การใช้ประโยชน์ที่ดิน ประชากร ทะเบียนเกษตรกร เป็นต้น และ Agri-Map ที่จะจัดทำขึ้นนี้ สามารถเพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ตลอดเวลา
เนื่องจากในธรรมชาติจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา โดยในเบื้องต้นตั้งเป้าให้มีการปรับข้อมูลให้ทันสมัย ที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ปี เพื่อให้เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ในการบริหารจัดการด้านการเกษตรไทยได้อย่างต่อเนื่องในอนาคตได้ ซึ่งการดำเนินการจัดทำ Agri-Map ของกระทรวงเกษตรฯในครั้งนี้ ได้เริ่มต้นมาจากการบูรณาการทำงานร่วมกันของกรม ชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อจัดทำแผนที่สารสนเทศทางน้ำ (Information Waterway Map หรือ IWM) และได้ขยายผลการดำเนินงาน สู่แผนที่เพื่อการเกษตรเชิงรุก ที่มีการบูรณาการข้อมูลในเชิงภูมิศาสตร์ของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทางด้านนายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากการดำเนินโครงการ Agri-Map โดยกรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำข้อมูลแผนที่ 9 ข้อมูล เป็นรายจังหวัด ครบทั้ง 76 จังหวัด และส่งข้อมูลให้กรมชลประทานเรียบร้อยแล้ว
ซึ่งข้อมูลแผนที่ดังกล่าว ประกอบด้วย 1. ขอบเขตการปกครอง 2. การใช้ที่ดิน 3. พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ 4 ชนิดพืช 4. ดินมีปัญหาต่อการเกษตร 5. ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับพืชเศรษฐกิจหลัก 4 พืช (จัดทำจังหวัดละ 4 แผนที่) 6. แหล่งน้ำผิวดิน 7. แหล่งน้ำใต้ดินหรือบ่อบาดาล 8. ที่ตั้งโรงงาน แหล่งรับซื้อ และสหกรณ์การเกษตร และ 9. พื้นที่ป่าไม้ที่เหลือในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจข้อมูลความต้องการเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพืช ตามหลักการการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning)
โดยทางกรมพัฒนาที่ดินได้ส่งเจ้าหน้าที่ และหมอดินอาสาลงให้ความรู้กับเกษตรกรในเรื่อง Agri-Map ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เริ่มมีความเข้าใจและพร้อมเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนแล้วในหลายพื้นที่.