สกู๊ปพิเศษหน้า 1 : ภาษี ‘น้ำ’ เสียงจากท้องทุ่ง และ ‘ไร่-นา’
กลายเป็นประเด็นร้อนหลังมีการปูดข่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำที่รัฐบาลผลักดันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เตรียมเรียกเก็บภาษีน้ำ ทั้งจากแม่น้ำ ลำคลอง บึง แยกเป็นถ้าใช้การเกษตร-เลี้ยงสัตว์ เก็บไม่เกิน 50 สตางค์ต่อ ลบ.ม. ส่วนโรงแรม-ที่พัก-ร้านอาหาร เก็บ 1-3 บาทต่อ ลบ.ม. ธุรกิจสนามกอล์ฟ-ผลิตพลังงานไฟฟ้า เก็บไม่เกิน 3 บาทต่อ ลบ.ม.
ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เก็บไม่ต่ำกว่า 3 บาทต่อ ลบ.ม. สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้าน กม.ฉบับนี้ดังมาทุกสารทิศ โดยเฉพาะเสียงของบรรดาเกษตรกรที่รับผลกระทบโดยตรง
นางธัญชนก ศิลปผดุง เกษตรกรสวนส้มวัย 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 38/24 หมู่ 7 ต.บึงบา อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี เปิดเผยว่า ทำสวนส้มอยู่ประมาณ 65 ไร่ การที่รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีน้ำจะทำให้เกษตรกรเดือดร้อนเพราะว่าในช่วงนี้พืชผลทางการเกษตรนั้นก็ตกต่ำอยู่แล้ว ปัจจุบันนี้ต้นทุนการผลิตก็สูงอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง ตลอดจนค่าแรงงานหรือภัยธรรมชาติ ภาวะราคาผลผลิตไม่คงที่หรือค่าน้ำเชื้อเพลิงในการสูบน้ำเข้า-ออกสวน ทั้งนี้จะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กลุ่มเกษตรกรอย่างแน่นอน ดังนั้นควรจะมีการยกเว้นให้กับกลุ่มเกษตรกรและอยากฝากทางรัฐบาลได้มีการทบทวนการออกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยเพื่อไม่ให้ส่งผล กระทบต่อเกษตรกรทุกอาชีพ หากจะจัดเก็บควรจะเก็บผู้ที่ทำในเชิงธุรกิจหรืออุตสาหกรรมมากว่าไม่ใช่มาขูดรีดกับเกษตรกร
ขณะที่ นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แปลกใจ เชื่อว่าคนที่คิดออก พ.ร.บ.ไม่ได้ทำการเกษตร คิดค่าน้ำเพียงแต่อ้างว่าให้เกษตรกรประหยัดน้ำ เพราะภาครัฐเองยังต้องช่วยเหลือต้นทุนการเกษตรกรอยู่และเมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เอาเงิน 2.2 หมื่นล้านบาทมาอุดหนุนเกษตรกรอยู่เลย แต่ตอนนี้จะมาเก็บค่าน้ำกับเกษตรกรซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการเกษตรอีก สวนทางกับนโยบายก่อนหน้านี้
“หาก พ.ร.บ.ออกมา เกษตรกรเดือดร้อนต้องออกมาต่อต้าน สุดท้ายภาครัฐคงต้องใช้ ม.44 มาระงับอย่างแน่นอน ฝากถึงนายกรัฐมนตรีถ้าจะเก็บค่าน้ำจริงๆ ก็ควรเรียกกลุ่มผู้นำเกษตรหรือเกษตรกรส่วนที่เกี่ยวข้องและแกนนำเกษตรกรเข้าไปแสดงความคิด อยากฝาก สนช.ว่าวิธีคำนวณค่าน้ำเอาจากระบบไหน การออก พ.ร.บ.มาแบบนี้เท่ากับรังแกเกษตรกร” นายมนัสระบุ
นายจำรัส ลุมมา เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในฐานะประธานสหพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน เผยว่า ไม่เห็นด้วย เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนแก่เกษตรกร จึงรู้สึกแปลกใจที่ สนช.และรัฐบาลผลักดันกฎหมายฉบับดังกล่าว ทั้งที่รัฐควรช่วยเหลือเกษตรกรมากกว่า เนื่องจากผลผลิตการเกษตรมีราคาตกต่ำอยู่แล้ว ถือเป็นการกดขี่และซ้ำเติมเกษตรกรมากขึ้น สวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เชียงใหม่-ลำพูน มีผลผลิตที่สำคัญ อาทิ ข้าว ลำไย ลิ้นจี่ ข้าวโพด หอมหัวใหญ่และพืชผักสวนครัว เป็นหลัก หากเก็บค่าน้ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่ม 5-10% แต่ขายข้าวเหนียวได้ตันละ 5,500 บาท ซึ่งต้นทุนการผลิต 4,900-5,000 บาท/ตัน เหลือกำไรเพียงตันละ 500-600 บาทเท่านั้น แต่เกษตรกรอยากขายตันละ 7,000-8,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นอีก 30% เพื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น พออยู่ได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ใช่เพิ่มภาระต้นทุน และสร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรมากขึ้น
“ได้ปรึกษาคณะกรรมการสหพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูนเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องดังกล่าวไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประสานไปยัง สนช.ให้พิจารณาทบทวนเรื่องดังกล่าวหาก สนช.และรัฐบาล ยังเดินหน้ากฎหมายฉบับดังกล่าว จนมีผลบังคับใช้ ทางกลุ่มจะเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ เพื่อคัดค้านเรื่องดังกล่าวจนถึงที่สุด”
นายธนาชัย เกตุโรจน์ กรรมการสภาทนายความภาค 8 ในฐานะเกษตรกรชาวสวน จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ยังไม่เข้าใจเหมือนกันว่าคิดอะไรกัน กฎหมายได้กำหนดประเภทการใช้น้ำไว้ 3 ประเภทคือ ประเภทที่ 1 ใช้นํ้าเพื่อการดำรงชีพ ไม่ต้องเสียค่าใช้นํ้า ประเภทที่ 2 ใช้นํ้าด้านการเกษตร เลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ เก็บค่าน้ำไม่เกิน 50 สตางค์ต่อ ลบ.ม. ด้านการท่องเที่ยว โรงแรม สถานที่พักผ่อน ร้านอาหาร เก็บค่าน้ำ 1-3 บาทต่อ ลบ.ม. และธุรกิจสนามกอล์ฟ การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาสัมปทาน เก็บค่าน้ำไม่เกิน 3 บาทต่อ ลบ.ม. และประเภทที่ 3 สำหรับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ และ กิจการอื่นๆ ที่ใช้น้ำในปริมาณมากตามมติ ของกนช. เก็บค่าน้ำไม่ต่ำกว่า 3 บาทต่อ ลบ.ม.
“ผมมองว่าด้านการท่องเที่ยว โรงแรม สถานที่พักผ่อน ร้านอาหาร เก็บค่าน้ำ 1-3 บาทต่อ ลบ.ม. และธุรกิจสนามกอล์ฟ การผลิตพลังงานไฟฟ้า ไม่น่าห่วง เพราะผู้ประกอบการก็ไปคิดเพิ่มจากผู้ใช้บริการได้ แต่ประเภทที่ 3 ภาคเกษตรกรรม ผมว่าทุกวันนี้คนที่เป็นเกษตรกรกล้ำกลืนฝืนทน ผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง รัฐยังไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่คิดที่จะจัดการบริหารน้ำ ด้วยการจัดเก็บภาษีภาคเกษตร ยกตัวอย่างชาวนา หากคิด 50 สตางค์ต่อ ลบ.ม. พื้นที่ทำนา 1 ไร่ จะต้องใช้น้ำประมาณ 1,600 ลบ.ม. ต้องจ่ายค่าน้ำประมาณ 800 บาท ถ้ามี 10 ไร่ จะต้องเสียเงินเท่าไหร่”
“ภาครัฐกล้าพอที่จะการันตีกับเกษตรกรได้หรือไม่ว่า หากมีการจัดการเก็บภาษีไปแล้ว ห้ามน้ำท่วม ห้ามแล้ง และทุกครั้งที่เกิดอุทกภัย วาตภัย รัฐยื่นมือมาช่วยอย่างจำกัดจำเขี่ย หากรับปากได้จ่ายเป็น 2 เท่า หรือ 3 เท่าของการจัดเก็บภาษีน้ำจากเกษตรกร จะห้ามได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นผมมองว่าต้องหาทางออกในการจัดเก็บภาษี อย่ามาขูดเลือดปูอีกเลย เกษตรกรที่มีอยู่ก็จะตายกันหมดแล้ว หากรัฐเป็นอย่างนี้ ไม่ยื่นมือช่วย ยังมาร่วมเหยียบซ้ำ” นายธนาชัยกล่าวทิ้งท้าย
นี่เป็นเสียงสะท้อนจากบรรดาชาวไร่ชาวนา เกษตรกรที่เปรียบเสมือนเป็นกระดูกสันหลังที่เสียงอาจดังไม่ถึงหูของผู้บริหารประเทศ…
ทีมา : มติชนออนไลน์
ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_31676