โรงสีชี้ข้าวนาปี 60/61 พุ่ง 7 ล.ตัน ปลูกทันหลังน้ำลด
ส.โรงสีประชุมใหญ่ประเมินผลกระทบน้ำท่วม ชี้ผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ-ข้าวเหนียวไม่เสียหาย เอกชนห่วงราคาข้าวเหนียวดิ่งตันละ 3,000 บาท หลังผลผลิตข้าวเหนียวนาปรังถล่ม แถมปัญหาสภาพคล่องโรงสียังเรื้อรัง
นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมสามัญครั้งที่ 8/2560 สมาคมรายงานคาดการณ์ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี 2560/2561 ผลกระทบจากอุทกภัยว่า ปริมาณผลผลิตในปี 2560/2561 ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นที่นาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และพื้นที่เสียหายโดยสิ้นเชิงมีไม่มากนัก และในบางพื้นที่ เช่น นครพนม สกลนคร สามารถหว่านและปลูกทดแทนได้ทัน ส่วน จังหวัดขอนแก่น และกาฬสินธุ์ไม่มีพื้นที่เสียหายโดยสิ้นเชิงเลย
ในทางตรงกันข้ามปริมาณน้ำฝนที่มากทำให้ผลผลิตนาดอนในภาคอีสานได้ผลดีและช่วยชดเชยส่วนที่เสียหายไปได้ทั้งหมด แต่ที่สำคัญยังต้องรอดูสถานการณ์สภาวะฝนยังตกหนักต่อเนื่องอีกหรือไม่ในช่วงเดือนปลายตุลาคมนี้ ซึ่งจะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต หากฝนตกลงมามาก และน้ำจากพื้นที่นาระบายลงสู่ลำคลองช้าอาจทำให้ข้าวที่รอเก็บเกี่ยวเสียหาย แต่หากน้ำระบายได้เร็วจะได้ผลผลิตดีกว่าในปีที่ผ่านมา
“ปีนี้เป็นห่วงสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกเหนียว ปรับลดลงอย่างมากถึงตันละ 1,000-3,000 บาท โดยเฉพาะข้าวเปลือกเหนียวนาปรังที่นิยมปลูกในพื้นที่ภาคกลาง จ.สิงห์บุรี พิจิตร ชัยนาท และสุพรรณบุรี ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นประมาณ 100 กว่าไร่ จากราคาปีก่อนที่สูงถึงตันละ 7,000-9,000 บาท ชาวนาจึงหันมาปลูกมากขึ้น แต่ปีนี้ผลผลิตมาก ราคาลดลงเหลือตันละ 6,000-6,300 บาท ทั้งยังมีปัญหาว่าใช้เวลาปลูกนานถึง 5 เดือนกว่าจะเก็บเกี่ยวได้ และมีผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก 800-1,000 กก.เหลือ 500-600 กก.ต่อไร่จากสภาวะอากาศและช่วงแสง จึงคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์เป็นอย่างนี้ปีหน้าคงมีพื้นที่ปลูกลดลงแน่นอน”
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวถึงความคืบหน้าของการเริ่มดำเนินโครงการชดเชยดอกเบี้ยว่า ขณะนี้โรงสีที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการชดเชยดอกเบี้ยที่จะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ยังมีความกังวล เพราะมีกระแสข่าวออกมาว่า ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนหลักของโรงสีจะดึงเงินชดเชยดอกเบี้ยที่รัฐบาลจ่ายให้ไปชำระหนี้เก่าที่โรงสีค้างเมื่อปี 2559/2560 ทำให้โรงสีอาจไม่มีสภาพคล่องในการซื้อข้าว ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกนาปีที่กำลังออกสู่ตลาด
แหล่งข่าวโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือกล่าวว่า ปีนี้สถานการณ์ผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิในพื้นที่น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 20% หรือประมาณ 7 ล้านตันข้าวเปลือก จากปีก่อนที่ผลิตได้จริง 6 ล้านตัน แต่ยังไม่น่าห่วง เพราะปริมาณสต๊อกคงเหลือในมือเอกชนเหลือไม่ถึง 30% ส่วนปริมาณสต๊อกในโครงการฝากเก็บยุ้งฉางปีก่อนขายหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ส่งออกและภาครัฐเร่งทำตลาดในช่วงต้นฤดูให้เร็วขึ้นเช่นเดียวกับปี 2559 เพื่อป้องกันไม่ราคาข้าวเปลือกลดลง และต้องเฝ้าระวังว่าปีนี้ตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักข้าวหอมมะลิจะมีการสั่งซื้อข้าวเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนล่าช้าจากมกราคม เป็นกุมภาพันธ์ 2561
“ปีนี้คาดว่าผลผลิตจะไหลเข้าไปฝากเก็บในยุ้งฉางมากขึ้น เพราะจะได้ราคาสูงตันละ 10,800 บาท คิดเป็นราคาส่งออกตันละ 700-750 เหรียญสหรัฐ”
https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_31368