สำรวจชีวิตเด็กพิการในยูเครน พวกเขารับมือกับภาวะสงครามอย่างไร?
[/p]
เยวาเข้าเรียนที่โรงเรียนซึ่งมีเด็กที่มีความต้องการด้านการศึกษาแบบพิเศษจำนวน 233 คน เมื่อเสียงไซเรนเตือนภัยทางอากาศดังขึ้น นักเรียนทุกคนจะเข้าไปหลบภัยในหลุมหลบภัยของอาคาร
"ฉันรู้สึกกลัวทุกครั้งที่ฉันได้ยินเสียงดัง" เยวาเล่า "แล้วแม่ก็จะให้ยาฉันกิน แล้วฉันก็จะรู้สึกดีขึ้น"
นับตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนเต็มรูปแบบในปี 2022 สุขภาพจิตและความก้าวหน้าทางการวิชาการของเยวาก็เริ่มเสื่อมถอยลง
"เมื่อเราถูกโจมตี ระดับความเครียดของเยวาจะสูงขึ้น ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้" แม่ของเธอกล่าว แต่ความกลัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเธอคือ การที่เมืองที่พวกเธออาศัยอยู่อาจกลายไปเป็นแนวหน้าการสู้รบ
"เยวาอายุ 14 ปี และเธอก็รูปร่างหน้าตาสวยเหมือนกับเด็กสาวคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน" เธอกล่าว
"แต่เธอมีความบกพร่องทางสติปัญญา สิ่งเลวร้ายที่สุดที่ฉันกลัวคือ วันหนึ่งทหารรัสเซียอาจทำร้ายเธอ และความคิดนั้นน่ากลัวกว่าจรวดโจมตีเสียอีก"
[b]ผู้ที่เปราะบางที่สุด[/b]
กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children's Fund - UNICEF) กล่าว สงครามในยูเครนได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความเป็นอยู่ของเด็กทุกคน อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับวิกฤตการณ์อื่น ๆ เด็กที่มีความพิการเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
"เด็กที่มีความพิการคือกลุ่มที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษต่อ ความรุนแรง การพลัดถิ่น และการได้รับความเครียดเป็นเวลานาน" องค์กร UNICEF ระบุ
ตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนเต็มรูปแบบเริ่มต้นขึ้น ผู้คนในยูเครนมากกว่า 300,000 คน ได้รับความพิการเนื่องจากการบาดเจ็บในสงคราม และผู้พิการกว่า 1.8 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตามข้อมูลของ European Disability Forum ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่รณรงค์เพื่อคนพิการทั่วภูมิภาคยุโรป
องค์กรหลายแห่งในประเทศยูเครนให้การสนับสนุนเด็กพิการและครอบครัวของพวกเขาด้วยการจัดหาพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงการสนับสนุนทางจิตใจและอารมณ์ หนึ่งในองค์กรดังกล่าวคือ ลีทาย (Litay) ซึ่งเป็นองค์กรเล็ก ๆ ในกรุงเคียฟที่ก่อตั้งโดยวาเลนตินา อูวาโรวา แม่ของลีทาย เด็กที่มีความพิการ องค์กร ลีทาย ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า "บิน" ในภาษายูเครน ให้ที่พักพิงแก่เด็กพิการ ช่วยให้พวกเขาสามารถรับมือกับสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ได้
วาเลนตินา อูวาโรวา กลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศหลังจากหนีออกจากเมืองลูฮันสค์ เมืองในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งถูกรัสเซียยึดครองในพื้นที่ตะวันออกของประเทศยูเครนเมื่อปี 2014 เธอเข้าใจดีถึงความท้าทายอันใหญ่ยิ่งที่ผู้ลี้ภัยจากสงครามต้องเผชิญในการเลี้ยงดูเด็กพิการ
ปัจจุบันเธอให้การสนับสนุนผู้หญิงคนอื่น ๆ ผ่านองค์กรลีทาย ด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม หลักสูตรการศึกษา และการบำบัดด้วยศิลปะ รวมถึงช่วยให้พวกเธอเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง องค์กรนี้ยังจัดกิจกรรมและการเดินทางที่ครอบคลุมสำหรับเด็กพิการอีกด้วย
"เด็กทุกคนควรรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการยอมรับ ไม่ใช่แค่ในฐานะผู้ชมเท่านั้น แต่ในฐานะฮีโร่ตัวจริง" อูวาโรวา กล่าว
สำรวจชีวิตเด็กพิการในยูเครน พวกเขารับมือกับภาวะสงครามอย่างไร?