เปิดงานมหกรรมกรุงเทพฯ เพื่อคนพิการ (Bangkok for All) ส่งเสริมคนพิการทุกด้านอย่างยั่งยืน
[/p]
[b](20 ธ.ค. 67) เวลา 13.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมกรุงเทพฯ เพื่อคนพิการ (Bangkok for All) พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ “คนพิการตัวอย่างกรุงเทพมหานคร” และหน่วยงานที่ทำประโยชน์ด้านคนพิการให้แก่กรุงเทพมหานคร ณ ห้องบางกอก ชั้น B2 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า[/b] เรื่องคนพิการเป็นเรื่องสำคัญมากและเป็นวิสัยทัศน์หลักของการบริหารงานกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้เป็นมหานครสำหรับทุกคน ซึ่งเรื่องระบบการจัดการการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อให้คนพิการได้มีความรู้และความสามารถพึ่งพาตนเองได้ เรื่องการจัดหางานที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรีให้คนพิการก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง กทม. เป็นหน่วยงานราชการที่มีการจ้างงานคนพิการมากที่สุด จำนวน 400 – 500 คน และเชื่อว่านั่นคือการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากคนพิการมีความสามารถไม่แพ้คนปกติ เพียงแต่ต้องเลือกงานที่เหมาะสมกับความพิการ นอกจากนี้คือเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ที่ต้องอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการอย่างทั่วถึง เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง
“การดูแลคนพิการไม่ใช่เรื่องง่าย ขอให้พวกเราคำนึงถึงคนพิการ ทำประโยชน์เพื่อคนพิการ ไม่ใช่เพียงงานมหกรรมครั้งนี้เพียงครั้งเดียว แต่ให้นึกถึงเพื่อนคนพิการทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในงานเปิดมหกรรมฯ
สำนักพัฒนาสังคม จัดงานมหกรรมกรุงเทพฯ เพื่อคนพิการ (Bangkok for All) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างเจตคติเชิงสร้างสรรค์ของคนพิการ และประชาชนทั่วไปที่มีต่อคนพิการ ให้ตระหนักรู้เกี่ยวกับคนพิการซึ่งจะส่งผลให้คนพิการได้เข้าถึงบริการและใช้บริการได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม และได้รับโอกาสทางสังคมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงให้คนพิการและประชาชนทั่วไปได้รับทราบนโยบาย มาตรการ แนวทางการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ การพัฒนาศักยภาพคนพิการของกรุงเทพมหานคร และส่งเสริมความเสมอภาคในทุกภาคส่วนของสังคม กลุ่มเป้าหมายได้แก่ คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรคนพิการ ประชาชนทั่วไป กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 1. พิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ “คนพิการตัวอย่างกรุงเทพมหานคร” จำนวน 50 คน และหน่วยงานที่ทำประโยชน์ด้านคนพิการให้แก่กรุงเทพมหานคร จำนวน 10 หน่วยงาน 2. การจัดบอร์ดนิทรรศการการดำเนินงานด้านคนพิการกรุงเทพมหานครตามนโยบาย 5 ดี 5 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพดี ด้านเรียนดี ด้านโครงสร้างและเดินทางดี ด้านเศรษฐกิจดี และด้านบริหารจัดการดี
3. การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาชีพของคนพิการ การจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 35 โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และการจัดหางาน 4. การจำลองศูนย์ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการของกรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และเครือข่าย 5. การออกหน่วยทำบัตรแสดงความสามารถของคนพิการ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 6. การออกหน่วยประเมินความพิการ พร้อมขอรับเบี้ยความพิการให้แก่คนพิการผ่านศูนย์ (One Stop Service) โดยสำนักการแพทย์ 7. การออกหน่วยตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน โดยสำนักอนามัย 8. การให้คำปรึกษา แนะแนวการศึกษาของคนพิการ นวัตกรรมทางการศึกษา และการจำลองห้องเรียนเรียนร่วมสำหรับเด็กพิการของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง และสำนักการศึกษา 9. การให้คำแนะนำปรึกษาเรื่องกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 10. การให้คำแนะนำปรึกษาเรื่องสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) โดยกรมการขนส่งทางบก
เปิดงานมหกรรมกรุงเทพฯ เพื่อคนพิการ (Bangkok for All) ส่งเสริมคนพิการทุกด้านอย่างยั่งยืน