ไทยมีทารกเกิดใหม่ราว 5 แสนคน ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 4 พันรายต่อปี
[/p]
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรง (Critical Congenital Heart Disease, CCHD) เช่น Tetralogy of Fallot (TOF) เป็น 1 ในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในทารกแรกเกิดของประเทศ อุบัติการณ์ของผู้ป่วย TOF ประมาณ 250 รายต่อปี โดยทุกรายจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษา และหลังจากผ่าตัดไปแล้ว 12-15 ปี ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดซ้ำ เพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทดแทนลิ้นหัวใจเดิมที่เสื่อมสภาพ ซึ่งในแต่ละครั้งจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อโรคหัวใจและระบบอื่นๆของร่างกายมากขึ้นตามไปด้วย
การเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวน (Percutaneous Pulmonary Valve Implantation, PPVI) เป็นวิธีการรักษาที่ช่วยลดระยะเวลาการรอคอย ลดระยะเวลาพักฟื้น และลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดซ้ำได้ แต่เป็นเทคนิคเฉพาะทางที่ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย อาศัยทีมงานสหวิชาชีพ และมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 600,000 - 1,000,000 บาท ต่อราย
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้เริ่มการรักษาผู้ป่วยด้วยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 โดยเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยพิการแต่กำเนิดทางสายสวนได้ และขยายเครือข่ายความร่วมมือผ่านการฝึกอบรม และประชุมวิชาการ ร่วมกับ หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้เป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงในระดับสากลในการร่วมจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ปัจจุบัน มีผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นได้รับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวนไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 100 ราย
นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพิ่มเติมว่า ในปี พ.ศ. 2558 สถาบันสุขภาพเด็กฯ ได้รับเชิญให้ทำการถ่ายทอดสดการสวนหัวใจระดับนานาชาติครั้งแรก จากห้องสวนหัวใจไฮบริดของสถาบันฯ ไปยังงานประชุม The 6th Congress of Congenital Heart Disease: Left Heart Intervention from A to Z ประเทศเวียดนาม พ.ศ. 2559 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จนถึงปี พ.ศ. 2560 รวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง และได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมาก ทำให้ในปี พ.ศ. 2560 สถาบันสุขภาพเด็กฯ ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับ Congenital and structural interventions (CSI) Foundation สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จัดประชุม CSI Asia Pacific 2017 ในวันที่ 2-4 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ
ไทยมีทารกเกิดใหม่ราว 5 แสนคน ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 4 พันรายต่อปี