ปักหมุด แชร์ข้อมูล สร้าง'เมืองใจดี'
[/p]
ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า แน่นอนว่า การเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ของคนพิการ คนสูงอายุ คนท้อง คนใช้วีลแชร์ คนท้อง ส่วนใหญ่ไม่รู้ข้อมูลว่า พื้นที่จอดรถพิการอยู่จุดไหน จากช่องจอดรถไปทางลาดไกลกันแค่ไหน หรือแม้แต่ห้องน้ำของคนพิการอยู่บริเวณไหนภายในอาคาร ซึ่งตามกฎหมายกำหนดลักษณะอาคาร สถานที่ หรือบริการสาธาณะ ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ แต่ไม่มีใครรู้ข้อมูล ยกตัวอย่าง รพ.รามาธิบดี มีทางลาด 20 แห่ง คนไข้และผู้ดูแลไม่รู้ หากมีการรวบรวมสร้างฐานข้อมูลอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการที่ตรงกับการใช้งาน ค้นหาเข้าถึงได้ง่าย มีแผนที่นำทาง จะสามารถวางแผนเดินทางล่วงหน้าได้ สะดวกสบาย เหมือนค้นหาข้อมูลใบไม้เปลี่ยนสีญี่ปุ่น พร้อมจุดชม เช่นเดียวกันกับสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ ระบบนี้คล้ายเกมโปเกม่อนที่มีค้นหาสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ แต่แพลตฟอร์มนี้ค้นหาสิ่งอำนวยความสะดวกตามสถานที่ต่างๆ กลายเป็นผู้ค้นพบ
“ แพลตฟอร์มนี้ใช้งานง่าย เป็นระบบไลน์และเอไอ เพราะประชาชนใช้ไลน์ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว 90% สามารถปักหมุด เพิ่มข้อมูล แชร์ตำแหน่ง เลือกสถานที่ เพิ่มภาพประกอบ ถ้าสถานที่นั้นไม่มี ก็ขอให้มีได้ โดยปักหมุดเพื่อนำส่งข้อมูลให้จังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสามารถแจ้งปัญหา มีแล้ว แต่ใช้งานไม่ได้จริง แจ้งซ่อมได้ เมืองใจดีจับคู่ระหว่างคนเจอสิ่งอำนวยความสะดวกกับคนที่อยากจะใช้บริการ ที่สำคัญเป็นฐานข้อมูลที่มีชีวิต ปัจจุบันมีข้อมูลแล้วกว่า 6,000 จุด ยิ่งข้อมูลมาก เกิดประโยชน์ค้นหาปลายทาง ต่างจากทราฟฟี่ฟองดูว์จับคู่ประชาชนที่พบเจอปัญหากับหน่วยงานแก้ปัญหา “ ดร.วสันต์ กล่าว
สำหรับข้อมูลที่อยากให้แชร์เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ 7 ประเภท ตามมาตรฐานกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประกอบด้วยทางลาด ลิฟต์ ป้ายสัญลักษณ์ ห้องน้ำภายนอก ห้องน้ำภายใน ที่จอดรถ ทางเดิน และศูนย์บริการข้อมูล ดร.วสันต์ระบุปัจจุบันศูนย์บริการข้อมูลมีหลายรูปแบบ ทั้งให้ข้อแนะนำ บริการให้ยืมอุปกรณ์ของผู้พิการ เช่น ไม้เท้า รถเข็น อุปกรณ์ช่วยพยุง ที่นั่งสำหรับขับถ่าย ฯลฯ
ความวาดฝันจากโครงการนี้ ดร.วสันต์ กล่าวว่า เวลาเดินทางไปที่ไหน มีข้อมูลเตรียมตัวสำหรับคนพิการ คนสูงอายุ ช่วยลดอุปสรรคและความยากลำบากสำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากสิ่งอำนวยความสะดวก ฐานข้อมูลนี้ระยะแรกชวนทุกคนมาช่วยกันเพิ่มข้อมูล ระยะต่อไปคนช่วยกันใช้ข้อมูล เพราะเมื่อพบว่าเกิดประโยชน์จะช่วยกันเพิ่มข้อมูลร่วมสร้างเมืองที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม อีกทั้งเตรียมพร้อมรองรับคนพิการและคนชราที่รวมกันแล้วกว่า 16 ล้านคน นอกจากนี้ คนไทยอายุเฉลี่ยมากขึ้น ร่างกายเสื่อมตามสภาพ ฐานข้อมูลนี้เด็กเล็ก คนท้อง คนแขนขาเจ็บ หรือแม้แต่กลุ่มคนใช้ล้อในเมืองเดินทางก็ใช้บริการได้ การพัฒนารูปแบบนี้จะเกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน สร้างระบบเมืองใจดีให้เกิดขึ้น
สำหรับแพลตฟอร์มเมืองใจดี มี 5 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และอีก 8 ภาคี อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ประชาคมคนพิการกรุงเทพมหานคร ฯลฯ ร่วมระดมพลังปักหมุดสร้างฐานข้อมูลดังกล่าว
ภานุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาผู้ว่า กทม. กล่าวว่า การสร้างฐานข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อทุกคนควรมีมานานแล้ว แต่การขับเคลื่อนช้ามาก เมื่อทุกหน่วยงานร่วมสร้างข้อมูลในแพลตฟอร์มเมืองใจดีแสดงถึงการขับเคลื่อนต่อ กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนไม่ได้ หากมีคนบางกลุ่มถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทุกวัยเดินทางไปมาอย่างสะดวก ออกแบบสิ่งต่างๆที่อำนวยความสะดวกทุกคนจริงๆ
“ ไม่เพียงคนพิการ ผู้สูงอายุ แต่เป็นเรื่องทุกคน อยากให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ตรงจุดไหนที่อาจจะอยู่ตรงซอกหลีบเล็กๆ ที่มีปัญหา ช่วยกันปักหมุด แจ้งให้ทราบ ยกตัวอย่างเวลาไปจุดที่มีทางลาดและบันได คนจะนิยมใช้ทางลาดมากกว่าเดินขึ้นลงบันได นี่คือ ทางกายภาพ ความสำเร็จจะเกิดขึ้น ถ้ามีความเห็นอกเห็นใจจากผู้มีส่วนร่วม เมืองใจดีแล้ว คนต้องใจดีด้วย กทม.จะทำอาคารที่มีป้ายสัญลักษณ์ต้อนรับผู้สูงอายุ คนพิการ คนตั้งครรภ์ ในต่างประเทศก้าวไปถึงห้องน้ำสำหรับครอบครัว ห้องให้นมลูก ไปไกลแล้ว ถ้าประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี ต่างชาติอยากเดินทางมา และได้รับการพูดถึงเป็นใจดีซิตี้ “ ที่ปรึกษา ภานุมาศ กล่าว
ปักหมุด แชร์ข้อมูล สร้าง'เมืองใจดี'