สอศ.เติมโอกาสสร้างความเท่าเทียมให้ผู้พิการมีอาชีพ
[/p]
[b]สอศ.ให้ความสำคัญการจัดการศึกษากลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาส เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ได้จัดตั้งศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาขึ้น[/b]
การเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียมกันและไม่แบ่งแยกเป็นสิ่งสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เพียงแค่เด็กธรรมดาทั่วไปเท่านั้น แต่รวมถึงผู้พิการด้วย เพราะทุกครั้งที่มีการพูดถึงประเด็นนี้ กลุ่มเด็กพิการจะถูกพรากโอกาสทางสังคมเสมอ ซึ่งทำให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาให้แก่กลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาส เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ได้จัดตั้งศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา (ศพอ.) ขึ้น เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2565 ดำเนินการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาไม่ว่าจะเป็นการจัดทำข้อเสนอนโยบายและแผนการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อคนพิการ ผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และผู้ด้อยโอกาส
[b]ในปี 2566 สอศ.ได้ประกาศจัดตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค และศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาจังหวัดขึ้น เพื่อทำงานระดับพื้นที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลให้กับสอศ. ส่งเสริมระบบความร่วมมือกับสถานประกอบการ และภาคีเครือข่ายรัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาในจังหวัด โดยทำให้คนพิการมีอาชีพเลี้ยงดูตนเองไม่เป็นภาระของสังคม[/b] นอกจากนี้ยังมีประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการเรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ อัตรา และรายการที่ให้การอุดหนุนทางการศึกษาสำหรับคนพิการในระดับอาชีวศึกษา และระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการว่าด้วยการจัดการอาชีวศึกษา และฝึกอบรมวิชาชีพสำหรับคนพิการพ.ศ. 2566 เพื่อให้คนพิการได้รับสิทธิเรียนฟรีตามพ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สอศ.มีราชกิจจานุเบกษาฯ เรื่องเงินอุดหนุนเรียนฟรีสำหรับคนพิการ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการรองรับการเข้าศึกษาต่อของคนพิการระดับอาชีวศึกษาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยปีการศึกษาละ 2 – 6% (ย้อนหลัง 2564-2566) ให้ได้รับสิทธิการศึกษาอย่างเท่าเทียม
สอศ.เติมโอกาสสร้างความเท่าเทียมให้ผู้พิการมีอาชีพ