เด็กพิการสู่เสี่ยร้านทอง สู้ชีวิตเพราะเห็นพ่อแม่กินข้าวคลุกน้ำปลา
[/p]
[b]เริ่มทำงานแรก รายได้ 20 บาท :[/b]
ในอดีตคนบางปลาม้านิยมเจียระไนพลอยเป็นอาชีพ ทำให้คุณนัทได้เริ่มต้นหารายได้จากอาชีพนี้เมื่ออายุได้ 12 ปี เขาบอกกับเราว่า ผมเรียนรู้วิชาจากคนรอบตัว ที่เริ่มหันมาเจียพลอยเพราะว่าไม่ได้เรียนหนังสือ ทำให้รู้สึกว่าอยากทำงาน จะได้มีเงินไปซื้อของที่อยากได้ ตอนนั้นได้เงินวันละ 20 บาท ก็ดีใจมากๆ แล้ว
ช่วงนั้นประมาณ พ.ศ. 2543 ผมยังไม่ได้คิดเรื่องช่วยเหลือครอบครัว คิดแค่ว่าอยากมีเงินไปซื้อขนมหรือของเล่นแบบที่คนอื่นเขามีกัน เพราะเพื่อนคนอื่นที่บ้านมีอาชีพทำนา เวลาพ่อแม่เก็บเกี่ยวข้าวได้คนอื่นเขาก็จะมีของเล่นใหม่ นั่นเลยถือเป็นแรงบันดาลใจแรกๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าอยากทำงาน
"แต่จังหวะที่ผมเริ่มโต ก็เริ่มรับรู้ฐานะทางบ้านและเข้าใจมันขึ้นเรื่อยๆ เรามีเรื่องที่ต้องใช้เงินกันเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน พี่ชายเองก็ต้องเรียนระดับชั้นสูงขึ้น ทำให้ผมเริ่มคิดว่า เราจะอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้ ต้องหาเงินให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม"
คุณนัทเป็นช่างเจียพลอยได้ประมาณ 2 ปี ก็เริ่มมีความคิดว่า "เดี๋ยวมันก็เจ๊ง" เขาให้เหตุผลว่า ตอนที่ผมเจียระไนพลอยสังเกตเห็นว่า พลอยมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เล็กจนเท่ากับไม้ขีด หรือบางชิ้นต้องใช้กล้องส่องด้วยซ้ำ ทำให้คิดว่าถ้าอายุเราเพิ่มขึ้น วันหนึ่งก็คงทำงานตรงนี้ไม่ได้
"ผมไปบอกพ่อให้หยุดทำอาชีพนี้ แต่ก็เกือบทะเลาะเพราะความเห็นไม่ตรงกัน พ่อคิดว่าเป็นอาชีพที่หล่อเลี้ยงครอบครัวมา ทำไมจะไปต่อไม่ได้ ส่วนผมเป็นประเภทชอบคิดอะไรล่วงหน้า เลยมั่นใจว่าวันหนึ่งมันจะไปต่อไม่ได้จริงๆ สุดท้ายพ่อผมทำต่อ แต่ผมเลิกทำพลอยแม้ว่าตอนนั้นค่าแรงจะถึงหลักร้อยแล้ว"
หลังจากนั้นคุณนัทกลายเป็นคนว่างงานอยู่เกือบปี ก่อนจะตัดสินใจเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ ในบริษัทรับซื้อของเก่าตามคำแนะนำของญาติ คุณนัท เล่าว่า ผมไม่ได้ทำหน้าที่เก็บของเก่าเพราะร่างกายไม่พร้อม แต่อยู่ในส่วนซ่อมของประกอบขาย บริษัทที่ทำงานมักจะรับซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามสำนักงานต่างๆ ผมก็มีหน้าที่ซ่อมของเหล่านั้น
เราถามคุณนัทว่าความรู้ในการเป็นช่างซ่อมได้มาจากไหน เขาตอบอย่างติดตลกว่า ถ้าเรียกภาษาบ้านๆ ผมเป็นคนชอบเสือก (หัวเราะ) พี่ข้างบ้านเขาจบด้านอิเล็กทรอนิกส์ เวลาผมเห็นเขาซ่อมของจะชอบไปถามจนได้ความรู้ติดตัวมา ทำให้ผมได้มีความรู้ในการซ่อมทีวี พัดลม หรือสิ่งต่างๆ แต่ผมทำงานตรงนั้นได้ประมาณปีนึง รู้สึกว่าไม่เวิร์ก เลยตัดสินใจกลับมาขายหมูปิ้งแถวบ้าน แม้ว่าจะขายดีแต่รู้สึกว่ากำไรเหลือน้อยนิด จนสุดท้ายก็ต้องเลิกกิจการอีกครั้ง
แม้ว่าจะล้มแล้วล้มอีกแต่คุณนัทยังไม่ยอมแพ้ เพราะเขาเห็นครอบครัวลำบากขึ้นเรื่อยๆ ในใจคิดเพียงว่า "ต้องหาเงินให้ได้มากที่สุด" ทำให้เขาหันไปรับจ้างเย็บผ้าโหล แม้ว่าค่าแรงจะน้อยมากเริ่มต้นวันละ 50 บาท แต่ก็ยอมทำเพราะเหมือนมีงานประจำ
"ผมลงทุนกู้เงินซื้อจักรเย็บผ้า เพราะถ้าทำมากเราก็ได้มาก เนื่องจากเขานับเป็นกิโลเย็บเสร็จก็เอาไปชั่งน้ำหนัก ผมตื่นตั้งแต่ตีห้า สุดท้ายทำได้มากสุดยังไม่ถึง 100 บาท ตอนนั้นอยากเลิกทำเพราะรู้สึกไม่คุ้ม แต่จะเปลี่ยนใจไปทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ ต้องทำงานหาเงินผ่อนจักรเย็บผ้า ดังนั้น พอผ่อนจักรได้หมดผมหยุดทำเลย"
คุณนัทบอกว่าหลังจากนั้นก็พยายามทำงานอื่นๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง ชนิดที่ว่าทำงานหลากหลายมาก แต่สุดท้ายก็ยังไม่เห็นหนทางช่วยเหลือครอบครัวให้พ้นความยากลำบากได้ เคยไปต่อชั้นไม้ขาย อาศัยความรู้จากพ่อแม่ แม้จะได้เงินถึงหลักพันในบางครั้ง แต่สุดท้ายก็ขายไม่ดีจนกระทั่งต้องล้มเลิก
เด็กพิการสู่เสี่ยร้านทอง สู้ชีวิตเพราะเห็นพ่อแม่กินข้าวคลุกน้ำปลา