ใต้แผลกดทับ : ชวนขุดคุ้ยร่องรอยความบาดเจ็บจากแผลกดทับที่เพื่อนคนพิการเจอ
[/p]
ความไม่รู้นี้เองที่ทำให้ชาคริตผู้ซึ่งออกไปใช้ชีวิตได้แผลกดทับมาโดยไม่รู้ตัว เขาเริ่มตั้งหลักตัวเองได้ มีงานทำและชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เหมือนโลกนี้กำลังเป็นโลกใบใหม่ที่มีชีวิตเพื่อรอไปเที่ยวกับเพื่อน
“ตอนนั้นผมไม่คิดเรื่องแผลกดทับเลย มองว่าถ้าเป็นแผลเดี๋ยวก็คงหาย แต่ปรากฎว่าแผลที่หลังใหญ่ขึ้น จนต้องผ่าตัดและนอนอยู่กับที่ประมาณหนึ่งอาทิตย์ ต้องใส่สายสวนปัสสาวะจนเกิดการเสียดสีเป็นตุ่มเล็กๆ และเกิดแผลใหม่ แม่ก็ทําแผลให้ทุกเช้าเย็น แผลที่เป็นมันหายยากมาก เคยติดเชื้อเนื่องจากต้องนั่งประชุมนานจนกลายเป็นแผลเรื้อรังและต้องกลับมานอนเยอะกว่านั่ง เพื่อนบางคนแผลใหญ่มาก ตอนเห็นแผลเพื่อนผมนอนไม่หลับเลย บางคนไม่กล้าออกจากบ้านเพราะกลัวแผลจะเลือดออก กลัวจะทำแผลไม่ได้ บางคนนั่งนาน อับชื้น ร้อนจนทำให้เกิดหลายแผลใกล้ๆ กันแต่ด้านในเป็นรูต่อกันเป็นแผลใหญ่”
เช่นเดียวกับอุทัยวรรณ ที่หลังจากเกิดอุบัติเหตุประมาณ 7 เดือน เธอก็เริ่มเป็นแผลกดทับเพราะไม่รู้จักเบาะลม และไม่ใช่วีลแชร์เพราะหวังว่าจะเดินได้ เขาเอาวีลแชร์มาให้ก็ไม่นั่งใช้วิธีกระเถิบตัวกับพื้น
“วันหนึ่งหมอจากโรงพยาบาลมหาราชมาเยี่ยมพร้อมเบาะลม ถึงได้ลองนั่ง คิดว่าถ้าดูแลตัวเองตั้งแต่ตอนนั้นก็คงไม่เป็นแผลเยอะ ตั้งแต่พิการมาแทบจะเป็นแผลกดทับตลอดเลย พออันหนึ่งหายก็เป็นที่อื่นต่อ มีติดเชื้อบ้าง พอเป็นจุดนี้แล้วน้ำเหลืองแตกออกก็กลายเป็นรูใหม่ วิธีรักษาคือต้องผ่าตัดศัลยกรรม เพราะหากปล่อยให้ติดเชื้อก็จะทรมานมาก แผลจะบวมแข็ง แดง นั่งทับไม่ได้เลยเพราะปวด ต้องนอนคว่ำอย่างเดียว นอกจากนี้ก็จะมีไข้ ห่มผ้าหลายผืนก็ไม่หายหนาวเพราะเย็นจากข้างใน ต้องไปหาหมอเพื่อฉีดยาเข้าเส้น
“ตลอดเวลาที่พิการแผลแทบไม่เคยหายเลย หากเรานอนพลิกตัวไปมาแผลก็ไม่น่าเกิด แต่เพราะชีวิตประจำวันที่ยังต้องออกมาใช้ชีวิตก็ทำให้เกิดการเสียดสี กดทับบริเวณต่างๆ เราจึงต้องเรียนรู้การดูแลตัวเอง รู้จักเปลี่ยนแพมเพิร์สบ่อยๆ อย่าให้แผลเปียก นั่งนานๆ ก็ต้องยกก้นบ้าง”
ประสบการณ์ของเพื่อนคนพิการนั้นตรงกับที่แพทย์หัวหน้าเวชศาสตร์ฟื้นฟูโรงพยาบาลมหาราชกล่าวคือ เมื่อมีแผลกดทับการฟื้นฟูจะยากขึ้นอีก ประเด็นที่กังวลก็คือ พอมีแผลติดเชื้ออาจทำให้เสียชีวิตได้ ผู้สูงอายุบางคนก็เสียชีวิตเพราะเรื่องนี้
“มีน้องคนหนึ่งเป็นแผลกินเข้าสะโพก แล้วก็ต้องโดนตัดสะโพก เพราะเอาไม่อยู่แล้ว การตัดสะโพกก็ลดความสามารถที่จะฟื้นฟูของคนไข้ไปอีก หรือบางทีตอนรักษาแผลก็ต้องนอนคว่ำเฉยๆ ไม่มีกิจกรรมอื่น พัฒนาการก็ถอยลง ส่วนมากแผลกดทับจะเริ่มจากแผลถลอกก่อน แล้วก็ลึกลงไปเรื่อยๆ ถึงกล้ามเนื้อเลยก็มี หากดูแนวโน้มว่าแผลไม่ดีขึ้นก็ต้องปรึกษาหมอผ่าตัดเพื่อเอากล้ามเนื้อส่วนอื่นมาแปะ บางคนแผลดีขึ้นแล้วแต่ก็ยังเป็นโพรง ก็ต้องทําแผลเรื่อยๆ แม้ไม่หายขาดแต่ถ้าไม่ได้สร้างปัญหาและไม่ติดเชื้อก็โอเค”
เมื่อการเป็นแผลกดทับทำให้ความสามารถที่จะฟื้นฟูหรือใช้ชีวิตนั้นน้อยลง คนพิการหลายคนที่หลังพิการก็ต้องพึ่งพิงอยู่แล้ว ยิ่งต้องพึ่งพิงหรือเป็นภาระของคนรอบข้างไปกันใหญ่ เหมือนที่นักกายภาพบำบัด โรงพยาบาลมหาราชระบุว่า แผลกดทับทำให้การฟื้นฟูนั้นยากขึ้น เช่น คนไข้อาจจะนั่งนานไม่ได้หรือว่าถ้านั่งแล้วต้องขยับตัวบ่อยๆ เพราะเจ็บแผลที่ก้นหรือสะโพกจนทำให้ไม่สามารถฝึกได้ตามโปรแกรม ถ้าเป็นเรื้อยังยาวนานก็จะต้องรักษาแผลให้หายก่อนผ่านการค้นหาว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร ไม่ว่าจะเป็นจากที่บ้าน โภชนาการ การดูแลรักษาแผล หรือโรคแทรกซ้อนอย่างเบาหวานหรือไม่ บางคนก็เข้าใจผิดว่าพอได้ที่นอนลมก็ไม่จําเป็นต้องพลิกตัว ทั้งที่จริงแล้วก็ยังต้องพลิก ที่นอนลมเป็นเพียงตัวช่วยแต่หากไม่พลิกนานๆ ก็ยังคงเกิดความร้อนและแผลได้อยู่
ในกรณีของไกรศร ซึ่งทำงานกับเพื่อนคนพิการหลายคน เขาพบว่าคนพิการบางคนฟื้นฟูจนดีขึ้นแต่ก็มาจบลงเมื่อเป็นแผลกดทับ บางคนเป็นแผลกดทับจนท้อและตัดสินใจเลิกฟื้นฟู ตัวเขาเองก็เป็นแผลกดทับ หาย แล้วก็เป็นใหม่ บางรอบใหญ่ขนาดสามารถกำหมัดแล้วยัดเข้าไปได้ ซึ่งถือว่าใหญ่มากเมื่อกับตัวผอมๆ ของเขา
“แผลอยู่บริเวณก้นกบแต่เราไม่รู้สึก นอนทับก็ไม่เจ็บ มารู้ว่าเป็นเพราะมือไปโดน แต่เผลอแป๊บเดียวก็ขนาดใหญ่ขึ้นมาก ตอนนั้นไม่รู้ว่าต้องจัดการยังไงจึงไปหาหมอ หมอก็สอนวิธีการล้างแผลแต่ก็เป็นนานถึง 10 ปี หลังจากเป็นรอบแรกก็ดูแลตัวเองด้วยการเปลี่ยนท่านอนบ่อยๆ นอนตะแคงบ้าง หงายบ้าง ทำให้แผลเดิมหายสนิทแต่ก็มีแผลอื่นขึ้นมาใหม่
“ช่วงที่มีแผลกดทับใช้ชีวิตลำบากขึ้นมาก กังวลไปหมดไม่ว่าจะเข้าห้องน้ำ ทำแผล เราจะนั่งนานก็ไม่ได้ ต้องหาเวลานอนพัก ถ้าอยู่ข้างนอกก็ต้องทำแผลในรถยนต์ซึ่งบางทีก็ไม่สะอาด โชคดีที่ยังไม่เคยติดเชื้อเข้าโรงพยาบาล แม้รู้ว่าต้องขยับตัวบ่อยๆ แต่ข้อเสียของเราก็คือนั่งแล้วไม่ค่อยยกตัวเอง บางทีพอยกแล้วกระดูกไม่ลงล็อค ก็ปวดทับเส้นประสาทจนนั่งไม่ไหวเลยทำให้ไม่อยากขยับ แต่พอไม่ขยับก็เป็นแผลอีก นอกจากแผลจะรุนแรงทางกายภาพแล้วยังส่งผลต่อสภาพจิตใจด้วย อย่างทำให้กลายเป็นคนวิตกกังวล กลัวว่าเลือดจะไหล น้ำเหลืองจะไหล หรือจะติดเชื้อ คนพิการบางคนมีงานหรือเรียนอยู่แต่พอเป็นแผลก็ต้องทิ้งไปหมดเลย”
คำพูดของไกรศรเห็นได้ชัดในเคสของจักรพงศ์ เขาพิการขณะเรียนปีสอง แม้จะฟื้นฟูความพิการได้แต่สิ่งที่ไม่เคยหายไปเลยคือแผลกดทับ ที่รั้งเขาเอาไว้ที่บ้าน ช่วงแรกๆหลังจากกลับจากโรงพยาบาล เขาต้องให้แม่ช่วยทำทุกอย่างอยู่หลายปี จะเข้าห้องน้ำก็เข้าไม่ได้เพราะบ้านยังไม่ได้ปรับให้อํานวยความสะดวก อะไรๆ ก็วางไว้ต่ำเกินกว่าที่คนนั่งวีลแชร์จะเอื้อมถึง ผ่านไป 2 ปีก็เริ่มปรับพื้นห้องน้ำ แม้แรกๆ จะรู้สึกเป็นภาระบ้าง แต่ที่บ้านก็ช่วยเหลือทุกอย่างจนไม่ได้รู้สึกกดดัน ระหว่างนั้นก็เกิดแผลกดทับใหม่อยู่เรื่อยๆ กระทั่งติดเชื้อและต้องคว้านเนื้อออก
“อาการของแผลกดทับที่ติดเชื้อสังเกตง่ายๆ คือตอนเย็นจะมีอาการหนาวๆ ร้อนๆ ถึงแม้อากาศจะร้อนแต่ความรู้สึกเราหนาวมาก อีกอย่างคือสังเกตแผลคือ เวลาเรานั่งถ้าไม่ติดเชื้อแผลจะไม่ส่งกลิ่น แต่บางทีตอนเราขยับตัวมีกลิ่นออกมาเหมือนกลิ่นเน่า หากเป็นแบบนี้เชื้อจะลุกลามเร็วมาก ใช้เวลาแค่ประมาณ 3 วัน แผลก็กินลึก
จนต้องรักษาด้วยการคว้านเนื้อสีดําหรือม่วงออกไปจนเห็นเป็นเนื้อสีแดงเท่านั้นเพราะหากเหลือเนื้อตาย เนื้อตายก็จะลามจนอาจต้องตัดทิ้งทั้งหมด เช่น หากเป็นแผลกว้าง 2 เซนติเมตร ก็จะตัดกว้าง 3 เซนติเมตร เพื่อกันการลุกลาม
“หลังจากครั้งที่นอนโรงพยาบาลหลายวันแล้วกลับมาบ้าน ผมก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิมจนแผลฉีกขาดและไม่ยอมหาย จากวันนั้นก็ 4 ปีแล้วที่มีแผลที่สะโพกย้อยด้านซ้าย คิดว่าแผลนี้เกิดจากความไม่สะอาด ช่วงนั้นต้องนั่งปลูกต้นไม้นานๆ บางทีก็มีน้ำกระเด็นเปียกโดยไม่รู้ตัว นั่งกดทับนานๆ ก็อาจจะทําให้เกิดแผลและการมีแผลกดทับก็กระทบชีวิตประจำวันมากกว่าไม่มีแผลหลายเท่าเพราะต้องระวังเยอะ นั่งเยอะก็ไม่ได้ ต้องนอนบ่อยๆ เปลี่ยนท่าไปมา ไม่อย่างนั้นแผลก็จะมีเลือด แต่เลือดไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดเพราะสิ่งที่น่ากลัวคือบางครั้งเราใส่แพมเพิร์ส แล้วมีอุจจาระออกมา หากเราไม่ได้เปลี่ยนทันทีอุจจาระก็จะเข้าไปในแผล สุดท้ายก็ติดเชื้ออีก บางทีนั่งนานๆ แล้วร้อนหรือนอนหงาย 2-3 ชั่วโมงแผลก็กว้างขึ้นแล้วจากความร้อนแต่เราไม่รู้เพราะไม่มีความรู้สึกเจ็บ จะรู้สึกซ่าเหมือนคนเป็นเหน็บชา ครั้นจะผ่าตัดรักษาโดยการเอาเนื้อส่วนอื่นมาแปะก็ยากอีกเพราะผมเป็นคนผอม แผลก็เลยไม่ยอมหายสักที
“ถ้าคนไม่เคยเห็นแผลกดทับก็อาจจะนึกไม่ออกว่าหน้าตาเป็นยังไง แผลของผมไม่ใหญ่ มองจากข้างนอกแล้วก็ดูไม่ลึก แต่จริงๆ แล้วแผลปริแตกที่เห็นลึกเข้าไปถึง 6 เซนติเมตร ข้างในก็เป็นแผลแดงสด ซึ่งถือว่าเป็นสีที่ดี ทุกๆ วันจะทำแผล 3 ครั้ง ถ้าแม่ไม่ว่างทำก็จะทำเองโดยใช้กระจกส่อง ซึ่งอาจจะไม่สะอาดเท่ามีคนทำให้ ช่วงหนึ่งผมเคยได้ยามาทา เขาบอกว่า 2-3 เดือนจะดีขึ้น ผมเองก็เหมือนจะดีขึ้นแต่ใช้ไปๆมาๆ แผลก็แย่ลงเหมือนดื้อยา จนผมต้องเปลี่ยนยาไปเรื่อยๆ จากแผลเล็กก็กลายเป็นแผลใหญ่ รักษามาใกล้จะหายพอติดเชื้อก็เกมส์เลย แผลใหญ่กว่าเดิมเพราะลามถึงกระดูก เคยทำแผลแล้วได้เศษกระดูกออกมาเลย”
[b]ไม่ได้เจ็บแค่ร่างกาย แต่จิตใจก็เจ็บไม่แพ้กัน[/b]
บาดแผลในร่างกายที่เกิดจากแผลกดทับเมื่อถึงระยะหนึ่งเราก็คงสังเกตได้ แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในจิตใจกลับยากที่จะสังเกต ดังเช่นที่อุทัยวรรณเจอครั้งที่เธอเป็นแผลหนักๆ เธอกลัว เครียดและรู้สึกว่าแผลจะไม่มีวันหาย กว่า 6 เดือนที่ต้องนอนโรงพยาบาลแบบไม่รู้ว่าต้องนอนไปถึงเมื่อไหร่ ทำให้เธอรู้สึกกดดัน และยิ่งเมื่อเธอไม่สามารถทำอะไรได้ การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ก็หมดไปด้วย แม้อยากกินขนมจีนก็ต้องกินข้าว อยากกินก๋วยเตี๋ยวก็ต้องกินข้าวเพราะไม่มีใครไปซื้อให้ คล้ายกับเรื่องราวของจักรพงศ์ ที่ตัวเขาตอนนี้กังวลที่จะต้องออกจากบ้านเพราะหากออกไปนานๆ ก็กลัวว่าแผลจะปริหรือเปื้อนอยู่ตลอดเวลา
ไม่ต่างอะไรกับสมชาย เพราะแผลกดทับได้สร้างบาดแผลในใจชิ้นใหญ่เพราะแผลนี้ทำให้เขาไม่ได้ออกไปไหน เพราะหากออกไปข้างนอกก็ดูและความสะอาดและทำแผลยาก
“บางทีเป็นเดือนเลยที่ไม่ได้ออกไปไหน ในช่วงที่ต้องพึ่งพาคนอื่นตลอด ผมโมโหร้าย หงุดหงิดทุกอย่าง ทำเสียงดัง จนเป็นโรคเครียดโดยไม่รู้ตัวและกลายเป็นโรคซึมเศร้า แม้ตอนนี้จะดีขึ้นแล้วแต่ก็มีบางครั้งยังอารมณ์ร้าย เพราะทำอะไรได้ไม่เร็วเหมือนเมื่อก่อน บางครั้งคนที่ต้องช่วยก็บ่นว่าเหนื่อยไม่อยากทำ ผมก็คิดในใจว่าผมไม่ได้อยากเป็นแบบนี้ ปัจจุบันก็ต้องกินยาไม่ให้ขาดและรู้สึกดีขึ้น เพราะถ้าเป็นแต่ก่อนสมองจะปั่นป่วน ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่”
ใต้แผลกดทับ : ชวนขุดคุ้ยร่องรอยความบาดเจ็บจากแผลกดทับที่เพื่อนคนพิการเจอ