‘เฮ็ดดิ คราฟท์’ สกลนคร มจธ.หนุน คนพิการเฮ็ด ความสำเร็จที่ชุมชนโอบรับ
[/p]
“เมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 เราเริ่มการสอนทักษะงานฝีมือ และเปลี่ยนจากครามเป็นการใช้สีธรรมชาติที่ได้จากท้องถิ่นด้วย เช่น ดอกฝักคูน ดาวเรือง ฝาง และพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นรูปต่างๆ ตามจินตนาการ เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมากขึ้น อาทิ เห็ดนำโชค ไม้เท้า สายรุ้ง หรือเต่า เป็นของประดับตกแต่ง ที่สำคัญเริ่มให้ความรู้การเป็นผู้ประกอบการ จึงเน้นสอนเรื่องของการตลาดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เขารู้ว่าตัวเองชอบหรือถนัดอะไร
“พร้อมเติบโตขึ้นในปีที่ 3 การก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการด้วยทุนและการบริหารจัดการด้วยตนเอง โดยการคัดเลือกคนที่พร้อมมีทักษะสามารถจะเป็นผู้ประกอบการได้ด้วยตัวเองและสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้สามารถทำงานระบบออฟฟิศได้ ทางกลุ่มได้รวมตัวกันเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ หรือ Local Enterprise ด้วยทุนของสมาชิกเองทั้งหมด เพื่อบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นในพื้นที่ทั้ง ผงสีธรรมชาติจากพืช สีเทียน เทียนหอม เชือกถัก เสื้อ กระเป๋าผ้าย้อมสีธรรมชาติ หรือแม้แต่ผ้าย้อมคราม” ผศ.วรนุชกล่าว
‘สีเทียน (ก้อน)’ Zero Waste คิดเอง วิจัยเอง เอกลักษณ์ ‘เฮ็ดดิ คราฟท์’
สำหรับผลิตภัณฑ์จากฝีมือผู้พิการภายใต้แบรนด์ ‘เฮ็ดดิ คราฟท์’ แน่นอนว่า Save สิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ ภายใต้แนวคิด Zero Waste ไม่หลงเหลือขยะใดๆ ทิ้งไว้บนโลก
‘ผงสีธรรมชาติจากพืช’ คือผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในท้องถิ่น โดยนำวัสดุจากธรรมชาติมาผลิต อาทิ คราม ฝาง สาบเสือ หูกวาง หางนกยูง ดาวเรือง ฝักคูน เปลือกประดู่ มะม่วง เพกา และเมล็ดคำแสด ที่สามารถนำไปเป็นส่วนผสมทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลากหลาย อาทิ เทียนหอม ธูปหอม โดยเฉพาะ ‘สีเทียน’ เป็นสูตรที่ทางกลุ่มคนพิการได้ทำวิจัย คิดค้นและพัฒนาขึ้นเอง ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มเฮ็ดดิ คราฟท์ ที่มีลักษณะเป็นก้อนแตกต่างจากสีเทียนแบบเดิม
“นี่เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านกับองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การออกแบบผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมของ มจธ. พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นถือเป็นการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีกับภูมิปัญญาชาวบ้านจนเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ขึ้นให้กับชุมชน และแม้จะเป็นกลุ่มเปราะบางที่เป็นคนพิการ แต่จุดเริ่มต้นความสำเร็จของคนกลุ่มนี้ คือ อยากทำ อยากฝึกและมีความตั้งใจ
รูปแบบการสอนของเราจะใช้วิธีการถ่ายทอดความรู้ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่เป็นวิชาการมากนัก มีการใช้สัญลักษณ์เข้ามาเพื่อช่วยให้จำได้ง่ายขึ้น เช่น เราบอกกับคนพิการว่าการทำผงสี เปรียบเสมือนกับการทำกับข้าว น้ำที่ย้อมเหมือนการต้มน้ำแกง ใส่เกลือ ใส่สารส้ม เคี่ยวเสร็จแล้วนำมากรอง เอากากออก น้ำที่ได้เทใส่กะละมัง จากนั้นโรยดินสอพองลงไป และตีจนขึ้นฟู พอฟองฟูเต็มที่แสดงว่าสีจับกับดินสอพองเรียบร้อย ก็ถือว่าเสร็จ ตั้งทิ้งไว้หนึ่งคืนปล่อยให้ตกตะกอน เช้าขึ้นมาก็เทน้ำข้างบนออก ตักเอาแต่ส่วนที่ตกตะกอน นำไปตากแดด จากนั้นจึงนำมาบดให้ละเอียด ซึ่งกระบวนการทำผงสีนี้ เรายังได้ถอดบทเรียนออกมาเป็นองค์ความรู้ มีด้วยกัน 7 ขั้นตอน เพื่อใช้ถ่ายทอดให้กับนักศึกษา NAFA (Nanyang Academy of Fine Arts) จากประเทศสิงคโปร์ ที่มาร่วมทำเวิร์กช็อปกับกลุ่มคนพิการในครั้งนี้ด้วย” ผศ.วรนุชอธิบาย
‘เฮ็ดดิ คราฟท์’ สกลนคร มจธ.หนุน คนพิการเฮ็ด ความสำเร็จที่ชุมชนโอบรับ