ภาพฝันกรุงเทพฯ เมืองปลอดอุปสรรคผู้พิการ
[/p]
ปัจจุบันมีความพยายามปรับปรุงพื้นที่เมืองด้วยแนวคิดออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตและเข้ากับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ มีเสียงจากวงเสวนาเรื่อง“ เมืองในอนาคตควรเป็นแบบไหน เมืองอัจฉริยะ เมืองน่าอยู่ หรือเมืองที่ไม่ทิ้งใคร” ในเวทีประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประขากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวันก่อน เพื่อสร้างความตระหนักและผลักดันให้เกิดการปรับสภาพแวดล้อมสำหรับทุกคน ไม่มีใครตกหล่นในสังคม พร้อมทั้งโชว์เมืองดีเด่นของประเทศญี่ปุ่นที่จัดเต็มเพื่อคนพิการ
[b]มาซามิ ทสึจิ ผู้จัดการด้านการวางแผนและประสานนโยบายเทศบาลเมืองอาคาชิ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า[/b] เดิมญี่ปุ่นมีเทศบัญญัติออกแบบอาคารเพื่อผู้สูงอายุ ก่อนจะพิจารณาออกเทศบัญญัติออกแบบจราจรที่ลดอุปสรรคในการใช้ถนน ทางเท้า และสถานีรถไฟฟ้า ก่อนจะพัฒนารวมกฎหมาย 2 ฉบับ เพื่อบูรณาการการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล โดยมีการเชื่อมการเดินทางบนทางเท้าและระบบขนส่งทางราง ต่อมาได้ออกกฎหมายขจัดอุปสรรคสำหรับคนพิการ ประกอบกับโตเกียวได้รับคัดเลือกให้จัดพาราลิมปิกและโอลิมปิก เป็นโอกาสส่งเสริมประเทศที่ปลอดอุปสรรคสำหรับคนพิการ
สำหรับเมืองอาคาชิ มาซามิ กล่าวว่า มีการออกกฎหมายท้องถิ่นเพื่อออกแบบพัฒนาเมืองปลอดอุปสรรคคนพิการ เกิดเทศบัญญัติว่าด้วยภาษามือ สร้างสภาพแวดล้อมที่สื่อสารได้ง่าย และให้เกียรติกันและกัน จัดอบรมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการให้แก่เจ้าหน้าที่เทศบาล พร้อมมาตรการอำนวยความสะดวก และมาตรการทางการเงินอุดหนุนการปรับปรุงอาคาร ร้านค้า และกลุ่มผู้ประกอบการที่อยากปรับปรุงสถานที่เพื่อคนพิการ เงินช่วยเหลือจัดซื้ออุปกรณ์อำนวยความสะดวก นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมจัดทำเมนูอาหารอักษรเบลล์เพื่อผู้พิการทางสายตา กระดานเขียนเพื่อสั่งอาหารสำหรับคนพิการทางการได้ยิน รวมถึงสร้างทางลาดสำหรับผู้ใช้งานรถเข็น
[b]“ หลังจากประกาศใช้กฎหมายนี้มีร้านค้ามากกว่า 528 แห่ง ทำโครงการเพื่อของบประมาณจากเทศบาลเมืองอาคาชิ เกิดการตระหนัก ดูแล และปรับเปลี่ยนร้านเพื่อคนพิการมากขึ้นในเมือง การผ่านกฎหมายท้องถิ่น ส่งผลให้สุขภาวะของคนพิการหลากหลายวัยอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ส่วนการขับเคลื่อน Universal Design ผ่านแผนปฏิบัติการออกแบบเมือง บรรจุในแผนแม่บท เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ละเลยประเด็นนี้ ทำให้คนพิการเดินทางได้อย่างอิสระและปลอดภัย ปัจจุบันยังจัดตั้งสภาออกแบบเมืองเพื่อรวบรวมความคิดเห็นพัฒนาเมืองด้วย “ มาซามิ กล่าว[/b]
ในเมืองอาคาชิ ทางเทศบาลยังขอความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมท่องเที่ยว และกรมการค้า เพื่อปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ ทั้งยังประสานงานกับหน่วยงานที่ดูแลขนส่งสาธารณะ ทั้งรถเมล์ แท็กซี่ และบริษัทที่รับผิดชอบระบบสัญญาณจราจร เพื่อคนพิการไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก
ส่วนแผนแม่บทเมือง เธอระบุประเด็นสำคัญสร้างความร่วมมือกับประชาชน รวมถึงคนพิการในพื้นที่ จนท.กับประชาชนเดินสำรวจร่วมกัน จัดตั้งระบบบริการให้คำปรึกษาในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและสถานที่ รวมถึงการจัดกิจกรรมที่คนพิการเข้าถึงได้
“ เราไม่ใช่แค่ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานหรือกายภาพ เพราะจะไม่สามารถขจัดอุปสรรคสำหรับคนพิการได้ทั้งหมด ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทุกคน เป็นการเปลี่ยนทัศนคติ มีผลต่อจิตใจ เพื่อขยายแนวคิดออกแบบเมืองเพื่อทุกคน อีกทั้งเราไม่ได้ผลักดันในทุกสถานที่พร้อมๆ กัน แต่จัดลำดับความสำคัญ เน้นพื้นที่สาธารณะที่มีคนใช้งานจำนวนมาก เช่น สถานีรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ ตู้บริการขายตั๋วอยู่ในระยะที่ผู้ใช้รถเข็นเอื้อมถึง สวนสาธารณะ และศูนย์การค้า ระบุเส้นทางเชื่อมต่อ ก่อนจะปรับปรุง ส่วนอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ต้องออกแบบตามที่กฎหมายกำหนด “ มาซามิ ย้ำเมืองต้องส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ
เมืองกรุงเทพฯ ขยับอย่างไร ดำรงฤทธิ์ พรหมณีวัฒน์ ผู้อำนวยการทางส่วนวิศวกรรมทาง 2 สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้ปรับปรุงทางเท้าให้โล่ง สะอาด เป็นระเบียบ สร้างทางเท้าที่มีคุณภาพ คงทน พัฒนาทางเลียบคลองให้เดินไป ปั่นปลอดภัย ปัจจุบันปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าพระรามที่ 1 เพื่อเป็นฟุตบาทต้นแบบ และเตรียมจะปรับย่านสุขุมวิท และอนุสาวรีย์ชัยต่อไป ก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าย่านบางกะปิ คลองแสนแสบ เป็นจุดเชื่อมต่อท่าเรือใกล้เคียง อย่างบางกะปิและวัดศรีบุญเรือง พัฒนาพื้นที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองกับสายสีส้ม สู่ท่าเรือคลองแสนแสบ ซึ่งวีลแชร์ใช้ได้ ส่วนอุโมงค์ทางลอดถนนมหาราชและถนนหน้าพระลานซึ่งเปิดใช้งานบางส่วน มีลิฟต์สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ
ภาพฝันกรุงเทพฯ เมืองปลอดอุปสรรคผู้พิการ