มูลนิธิคุณพ่อเรย์ ศูนย์พึ่งพาแห่งความหวัง ของเหล่าเด็กและคนพิการ
[/p]
[b]โรงเรียนสอนเด็กพิการทางหู[/b]
เมื่อหลายสิบปีก่อน ในเขตภาคตะวันออกของประเทศไทยมีความเจริญมากขึ้น และมีหลายครอบครัวที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ แต่กลับไม่มีโรงเรียนสำหรับเด็กต่างๆ เหล่านี้ คุณพ่อเรย์จึงได้ก่อตั้งโรงเรียนของท่านขึ้น เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกในเขตภาคตะวันออกที่รับเด็กเหล่านี้
โรงเรียนเริ่มต้นด้วยครูเพียง 6 คน และรับเด็กพิเศษที่อยู่ในละแวกนี้จำนวน 18 คน เด็กมีอายุระหว่าง 5-8 ปี เด็กๆ จะกินนอนอยู่โรงเรียนระหว่างวันจันทร์ถึงศุกร์ ส่วนในวันหยุดเด็กๆ สามารถเดินทางกลับบ้านได้ โรงเรียนของคุณพ่อเรย์เป็นงานการกุศล โดยรับเด็กๆ ที่อยู่ในฐานะยากจนและผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
[b]โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา[/b]
แรกเริ่มเดิมที คุณพ่อเรย์ประสงค์จะตั้งโรงเรียนสำหรับผู้พิการทางแขนขาและทางการเคลื่อนไหว โดยให้คนเหล่านี้ได้ฝึกวิชาชีพ อาทิ การทำกระเบื้องเซรามิก ซ่อมเครื่องไฟฟ้า และเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ แต่คุณพ่อเรย์ก็คิดถึงหลักสูตรการเลี้ยงผึ้งด้วยเช่นกัน หลังจากที่ได้ลองผิดลองถูก ค้นหาว่าหลักสูตรใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้พิการมากที่สุด คุณพ่อเรย์ตัดสินใจที่เลือกเปิดหลักสูตรการใช้คอมพิวเตอร์และซ่อมเครื่องไฟฟ้าสำหรับโรงเรียนของท่านขึ้น
ในปี พ.ศ. 2530 นักเรียนรุ่นแรกได้ออกไปฝึกงานตามร้านซ่อมเครื่องไฟฟ้าทั่วราชอาณาจักรไทย 6 เดือนต่อมา พวกเขากลับมาที่โรงเรียนพร้อมจดหมายรับรองจากสถานประกอบการ พวกเขาเป็นรุ่นแรกที่จบการศึกษาและได้รับเข้าทำงานตามที่ต่างๆ ทุกวันนี้ โรงเรียนของเรามีหลักสูตร 2 ปี สำหรับภาควิชาคอมพิวเตอร์และธุรกิจในภาษาอังกฤษ นักเรียนผู้พิการทุกคนจะได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษในระดับต้นและระดับสูง วันนี้โรงเรียนยังคงรักษาชื่อเสียงที่ว่า “นักเรียนที่จบการศึกษา ทุกคนมีงานทำร้อยเปอร์เซ็นต์” ให้เด็กได้เรียนและกินอยู่ที่โรงเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
นอกเหนือจากการศึกษาเล่าเรียน โรงเรียนยังส่งเสริมให้พวกเขาฝึกศักยภาพในด้านกีฬา แม้จะต้องปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้พวกเขาสามารถเล่นกีฬาเหมือนคนปกติได้ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้นักเรียนของโรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ ก้าวสู่ความเป็นนักกีฬาระดับชาติและนานาชาติ หลายครั้งที่นักเรียนนำเหรียญและถ้วยรางวัลต่างๆ กลับมาที่โรงเรียน ตราบจนวันนี้ มีนักเรียนกว่า 2,000 คน จบจากโรงเรียน พวกเขาได้งานทำและมีสถานะที่ดีขึ้น
โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่ พัทยา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่ เริ่มการเรียนการสอนประมาณเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2530 โดยมีอาจารย์ออรอร่า ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา เป็นครูใหญ่ของโรงเรียน อาจารย์จบการศึกษาจากวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2525
แรกเริ่ม โรงเรียนมีเด็กทั้งสิ้น 7 คน อายุ 4-12 ปี มีการจัดหลักสูตรใหม่สำหรับเด็กพิการทางสายตา เช่น แทนที่จะให้เด็กวาดรูปมีการสอนให้เด็กปั้นดินน้ำมัน ก็ให้เด็กๆ ดีดลูกคิดในวิชาเลขคณิต ซึ่งทั้งคุณพ่อเรย์และอาจารย์ออรอร่าพยายามสอนให้นักเรียนสามารถพึ่งตนเองและดูแลตนเองได้ โดยเฉพาะในเรื่องสุขอนามัย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2534 ก็ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ
อีกทั้งยังมีสร้างอาคารหลังใหม่ เพื่อขยายโอกาสด้านการศึกษาในด้านวิชาชีพให้นักเรียนที่จบจากโรงเรียนหรือผู้พิการทางสายตาทั่วไป และเปิดหลักสูตรต่างๆ เช่น การทำธุรกิจทางไกล การแปลและล่าม ดนตรี และโอเปอเรเตอร์ เป็นต้น
[b]บ้านแรกรับและงานภาคสนาม เพื่อเด็กและเยาวชนพระมหาไถ่ พัทยา มูลนิธิคุณพ่อเรย์[/b]
ประมาณเดือนมกราคม พ.ศ. 2534 คุณพ่อเรย์ได้เล็งเห็นว่า มีเด็กกว่า 400 คน ที่เร่ร่อนอยู่ตามท้องถนนในเขตพัทยา เด็กเหล่านี้ถูกขับไล่ไสส่ง ไม่ก็หนีออกจากบ้าน บางคนมาจากต่างจังหวัดที่ห่างไกลเพื่อหาชีวิตที่ดีกว่าที่พัทยา และเพื่อที่จะทำให้เด็กเหล่านี้เชื่อมั่นว่า ชีวิตของพวกเขาดีกว่านี้ได้แน่
คุณพ่อเรย์ได้เปิดบ้านสำหรับพวกเขา แรกทีเดียวบ้านหลังนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก 2 ปีผ่านไป มีเด็กเข้าพักในบ้านกว่า 20 คน ในปี พ.ศ. 2535 คุณพ่อเรย์เคยกล่าวเปรยในวันฉลองคริสต์มาสไว้ว่า แม้โครงการนี้จะเล็กที่สุดแต่ทำงานยากที่สุด
ในปี พ.ศ. 2532 สถานะการเงินของคุณพ่อเรย์ดีขึ้น ท่านได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งไกลจากเมืองพัทยาประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร เป็นที่ดินสำหรับเลี้ยงหมู แรกทีเดียวท่านก็ไม่ทราบว่า ทำไมถึงซื้อที่ดินแปลงนี้ 9 ปีต่อมาจำนวนเด็กที่ศูนย์พักพิงมีมากขึ้น
คุณพ่อเรย์เริ่มมีความคิดที่จะหาที่แห่งใหม่เพื่อรองรับจำนวนเด็กที่เพิ่มขึ้นนี้ ที่ดินแปลงนี้เหมาะสำหรับทำการเกษตรปลูกพืชผัก และเลี้ยงหมู มีน้ำอย่างอุดม และอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนเท่าไรนัก แถมยังอยู่ไกลกับหมู่บ้านเลี้ยงช้างอีกด้วย คุณพ่อเรย์จึงได้เริ่มก่อสร้างบ้านหลังใหม่นี้ในปี พ.ศ. 2541 แต่ยังขาดเงินทุนอยู่ไม่น้อย จึงดำเนินงานก่อสร้างได้ช้ามาก จนถึงปี พ.ศ. 2543 ก็ได้ย้ายเด็กกลุ่มแรกไปที่บ้านใหม่ของพวกเขา
มูลนิธิคุณพ่อเรย์ ศูนย์พึ่งพาแห่งความหวัง ของเหล่าเด็กและคนพิการ