เลือดออกในสมอง : เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง อันตรายที่อาจมาถึงอย่างฉับพลัน
[/p]
[b]โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน หรือ acute stroke เป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 และสาเหตุการพิการอันดับ 3 ของโลก หนึ่งในอาการนั้น คือ เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง ที่ถือว่าเกิดได้ยาก แต่หากเกิดขึ้น จะรวดเร็วและเฉียบพลัน โดยมีโอกาสเสียชีวิต หรือพิการถาวรได้สูง [/b]
เว็บไซต์ พบแพทย์ (Pobpad) ระบุว่า เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง หรือ subarachnoid hemorrhage เป็นภาวะที่ผู้ป่วยจะมีเลือดไหลออกมาบริเวณเยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างเนื้อสมองกับเนื้อเยื่อที่หุ้มสมอง อาการนี้ มักเกิดขึ้นจากหลอดเลือดสมองที่โป่งพองผิดปกติแตกจนมีเลือดไหลออกมา ซึ่งถือว่าพบได้ไม่บ่อยนักแต่ก็เป็นการเจ็บป่วยที่อันตราย และผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอย่างทันท่วงที
กรณีที่ไม่มีประวัติการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะมาก่อน แต่กลับเกิดภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง, อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ คณะแพทย์ศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช อธิบายในบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์ Wongkarnpat.com ว่า ราวร้อยละ 80 มีสาเหตุมาจากการแตกของหลอดเลือดในสมองที่เกิดการโป่งพอง ส่วนสาเหตุอื่น ๆ อาจมาจากการสร้างหลอดเลือดผิดปกติ หรือการอักเสบของหลอดเลือด เป็นต้น
“ภาวะนี้มักจะพบในกลุ่มคนอายุน้อยมากกว่าผู้สูงอายุ และมีความสำคัญมากเนื่องจากมักทำให้เกิดความพิการหรือความผิดปกติถาวรได้ถึงประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งทำให้สูญเสียคุณภาพชีวิตอย่างมาก”
บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองส่วนกลาง โรคร้ายหายาก ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยกำลังให้ความสนใจ มาไว้ในบทความนี้
อาการของโรค
อาการเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง หลัก ๆ คือ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงขึ้นมาในทันที โดยปวดคล้ายถูกตีที่ศีรษะ ในบางครั้งอาจเกิดขึ้นขณะทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง เช่น ไอ ขับถ่าย หรือมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
“อาการปวดศีรษะ ซึ่งมักจะรุนแรงมากและเกิดขึ้นอย่างทันที อาการปวดมักจะเพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดภายในเวลาไม่กี่วินาที” อ.นพ.สันติ ระบุ พร้อมอธิบายว่า อาการปวดหัวเฉียบพลันและรุนแรงนี้ มักถูกเรียกว่า “ปวดศีรษะเหมือนถูกฟ้าผ่า”
ผู้ป่วยราว 10-40% อาจเริ่มมีอาการปวดศีรษะนำมาก่อนคล้ายสัญญาณเตือน ก่อนมีเลือดออกจริงประมาณ 2-8 สัปดาห์ ซึ่งมักจะเกิดจากการเริ่มมีเลือดรั่วออกมาจากหลอดเลือด อันเป็นผลจากการทำกิจกรรมหนัก หรือมีความเครียด แต่โดยมากแล้วสามารถเกิดภาวะเลือดออกได้แม้จะเป็นการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ดี อ.นพ.สันติ อธิบายว่า เนื่องจากอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นจากเลือดออกในเยื่อหุ้มสมองนั้น มักจะพบได้เพียงร้อยละ 1 ของผู้ป่วยทั้งหมดที่มารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินด้วยอาการปวดศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้มากจากการไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องทันเวลา
ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดคอ คอยึดตึง รู้สึกคลื่นไส้ ผะอืดผะอม รู้สึกปวดตาเมื่อเห็นแสงจ้ามองเห็นไม่ชัด หรือมองเห็นเป็นภาพซ้อน สับสน มึนงง หมดสติ ชัก รวมถึงอาการอื่น ๆ คล้ายโรคหลอดเลือดสมอง เช่น พูดไม่รู้เรื่อง สื่อสารไม่ได้ ตัวชา หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก เป็นต้น
สาเหตุของโรค
สาเหตุของโรคนั้น มีหลายประการ Pobpad.com อธิบายว่า สาเหตุหลัก คือ หลอดเลือดในสมองโป่งพอง เนื่องจากผนังหลอดเลือดเปราะบาง เมื่อได้รับแรงกดจากกระแสเลือดที่ไหลผ่านจึงโป่งพองและแตกได้ในที่สุด และอาจมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดภาวะนี้ เช่น ความดันโลหิตสูง ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก หรือมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังอาจมีสาเหตุจาก สมองได้รับบาดเจ็บกระทบกระเทือน หลอดเลือดสมองเจริญผิดรูปผิดร่าง ภาวะมีเลือดออกผิดปกติ หรือใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หลอดเลือดสมองอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจนทำลายเซลล์สุขภาพ โรคหลอดเลือดไฟโบรมัสคูลาร์ ดิสเพลเชีย (Fibromuscular Dysplasia) ซึ่งทำให้หลอดเลือดสมองตีบแคบลง โรคหลอดเลือดสมองอุดตันโมยาโมยา (Moyamoya Disease) และ ภาวะสมองติดเชื้อ เช่น สมองอักเสบ เป็นต้น
ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง พบได้ประมาณ 6-30 คนต่อประชากร 100,000 คน ตามข้อมูลของ หาหมอ ดอต คอม โดยสถิติจะแตกต่างตามผลการศึกษาในแต่ละประเทศ และกลุ่มประชากรที่แตกต่างกัน
สำหรับโรคหลอดเลือดในสมองโป่งพอง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองฯ มีโอกาสเกิดขึ้นได้เพียง 1-2% ของประชากร โดยตำแหน่งที่เกิดการโป่งพองมักจะเป็นจุดที่หลอดเลือดแดงมีการแยกสาขาออกจากกัน เนื่องจากเป็นบริเวณที่ได้รับแรงเซาะหรือกระทบจากกระแสเลือดอยู่ตลอดเวลา
กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดังกล่าว คือ ผู้ที่มีประวัติผู้เป็นภาวะนี้ในครอบครัว มีโรคที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เป็นต้น
เมื่อหลอดเลือดในสมองที่โป่งพองเกิดการแตกแล้ว, อ.นพ.สันติ อธิบายว่า เลือดจะออกมาจากหลอดเลือดแดงเข้าสู่ชั้นเยื่อหุ้มสมองส่วนกลาง และเกิดการสะสมแรงดันในบริเวณดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเท่ากับแรงดันภายในหลอดเลือดแล้ว และมีการสร้างลิ่มเลือดขึ้นแล้วภาวะเลือดออกจึงจะหยุดลง ดังนั้น การมีเลือดออกจากหลอดเลือดเหล่านี้จึงสร้างผลกระทบกับสมองได้มาก และมีผู้ป่วยถึงร้อยละ 25-50 ที่เสียชีวิตจากภาวะนี้
การวินิจฉัย
แพทย์มักวินิจฉัยได้จากอาการที่ปรากฏ และอาจตรวจด้วยวิธีการอื่น ๆ เพื่อดูระดับความรุนแรงและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป เช่น
การสแกน - โดยอาจใช้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เพื่อตรวจหาภาวะเลือดออกในสมอง ซึ่งแพทย์อาจฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่เส้นเลือดของผู้ป่วยด้วย เพื่อช่วยให้เห็นภาพประกอบการวินิจฉัยได้ชัดเจนขึ้น
การฉีดสีเพื่อดูหลอดเลือดสมอง - แพทย์อาจสอดท่อที่หลอดเลือดบริเวณขาแล้วฉีดสารย้อมสีให้ไหลไปตามเลือดและเข้าไปยังสมอง จากนั้นจึงใช้เครื่องเอกซเรย์ฉายภาพหลอดเลือดสมอง มักใช้ในกรณีที่แพทย์ต้องการตรวจภาพอย่างละเอียดมากขึ้นเมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยเป็น subarachnoid hemorrhage
การเจาะน้ำไขสันหลัง - เป็นการใช้เข็มเจาะนำตัวอย่างของเหลวบริเวณไขสันหลังไปตรวจหาเซลล์เม็ดเลือดที่ปนอยู่ ซึ่งแสดงถึงการเกิด subarachnoid hemorrhage
ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ประสาทวิทยา อธิบายในบทความ เผยแพร่โดย “หาหมอ ดอต คอม” ว่า การวินิจฉัยยังพิจารณาจากจากประวัติอาการปวดศีรษะรุนแรงที่สุดในชีวิต ที่เกิดขณะที่ทำกิจกรรมออกแรง โดยเฉพาะอายุ 40 ปีขึ้นไป รวมถึง การตรวจร่างกายพบต้นตอแข็งตึง ก้มคอลงไม่ได้ อาจตรวจพบความผิดปกติอื่นๆทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น ลืมตาไม่ขึ้น แขนขาอ่อนแรง อัมพาตเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 เป็นต้น
การรักษาเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง
อ.นพ.สันติ อธิบายต่อว่า เป้าหมายแรกของการรักษา คือ การพยายามลดโอกาสของการเกิดและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการมีเลือดออก ขั้นต้น ควรดูแลทางเดินหายใจให้เปิดโล่งและมีระบบไหลเวียนเลือดทำงานเป็นปกติ ไปจนถึง ควบคุมและป้องกันอาการชัก ก่อนตรวจวินิจฉัยในขั้นตอนต่อไป
ส่วนระดับการรักษาขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของการป่วย โดยแพทย์อาจพิจารณารักษาผู้ป่วยด้วยวิธีดังต่อไปนี้
เลือดออกในสมอง : เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง อันตรายที่อาจมาถึงอย่างฉับพลัน