เมื่อ "ความพิการ" ไม่ใช่ "ข้อจำกัดและภาระ"
[/p]
[b]ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง[/b]
หากย้อนไปหลายปีก่อนหน้านี้ ความเป็นไปได้ที่ ผู้พิการ จะลุกขึ้นมามีงานทำหรือได้รับการจัดสรรพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตดูจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในวันนี้เพื่อให้สังคมตระหนักถึงศักดิ์ศรีของผู้พิการ และสร้างความตื่นตัวในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการ รวมถึงสนับสนุนการสร้างเสริมศักยภาพของคนพิการ เปิดโอกาสและสนับสนุนให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เข้ามาสานพลังเครือข่ายและภาคีที่มองเห็นความสำคัญของสังคมแห่งความเท่าเทียม และร่วมจุดประกายความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ผู้พิการ เป็นอีกหนึ่งประชากรกลุ่มเฉพาะที่ สสส. ให้ความสำคัญ ซึ่งต้องยอมรับว่าประชากรกลุ่มนี้มีความแตกต่างจากคนทั่วไป มีความเปราะบางต่อการสูญเสียสุขภาวะมากกว่าคนปกติ ทั้งด้วยข้อจำกัดทางกายภาพ และปัจจัยอื่นๆ คนนอกระบบของสังคมที่เข้าไม่ถึงและไม่ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมสุขภาพตามนโยบายภาพรวม
ภรณี กล่าวต่อว่า การทำงานที่ผ่านมาของ สสส. ผ่านสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) มุ่งลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพในประชากรกลุ่มเฉพาะ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มักถูกละเลย หลงลืมหรือมักเป็น "กลุ่มสุดท้าย" ที่ได้เข้าถึงทรัพยากร โดยทำหน้าที่ทั้งประสานและเสริมพลังในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถบนพื้นฐานความแตกต่างของบุคคล โดยเฉพาะผู้พิการ
"ผู้พิการในไทยส่วนใหญ่ฐานะยากจนไม่มีอาชีพ ไม่มีงานทำ ขาดโอกาสทางการศึกษาและมีข้อจำกัดด้านการเดินทาง การสื่อสาร และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการสาธารณะ โดยที่ผ่านมา สสส. ให้ความสำคัญกับผู้พิการมาอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตผู้พิการ" ภรณี กล่าว
ทั้งนี้ สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 1,932 องค์กร ร่วมขับเคลื่อนสร้างสิ่งแวดล้อมและการเข้าถึงสุขภาวะ โดยมีเป้าหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ จนมีโครงการกว่า 130 โครงการ เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของ กลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้พิการหรือผู้สูงอายุ โดยในส่วนของผู้พิการ สสส. มีการขับเคลื่อนในหลายประเด็นสำคัญ อาทิ การมุ่งเน้นส่งเสริมให้มีงานทำ การอยู่ร่วมกันในสังคม การมีส่วนร่วมในชุมชน และการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของผู้พิการ เป็นต้น
เมื่อ "ความพิการ" ไม่ใช่ "ข้อจำกัดและภาระ"