วช. หนุน จุฬาฯ พัฒนาเท้าเทียมไดนามิกส์ ทางเลือกใหม่ผู้พิการขาขาด ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล
[/p]
[b]สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนผลงาน “เท้าเทียมไดนามิกส์สำหรับผู้พิการขาขาดที่แข็งแรง” แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ และคณะ แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติ “ก้าวใหม่ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อส่งเสริมให้จำนวนผู้พิการที่ด้อยโอกาสได้ใช้เท้าเทียมที่มีคุณภาพดี ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้พิการขาขาดให้ดีขึ้น
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า[/b] วช. ภายใต้กระทรวง อว. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นองค์ความรู้ที่เสริมศักยภาพในด้านคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม สนับสนุนในภาคการผลิตต่าง ๆ สามารถขยายผลต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดย วช. ได้ให้ทุนสนับสนุนแก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ และคณะ แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลในการดำเนินงานโครงการ “ก้าวใหม่ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยได้มีการนำเท้าเทียมไดนามิกส์ ไปมอบให้กับผู้พิการขาขาดตามโรงพยาบาลกว่า 13 แห่ง จำนวน 67 ขา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการขาขาดให้ดีขึ้น และยังช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าเท้าเทียมจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงได้อีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการขาขาด 39,647 คน กว่า 95 % ของผู้พิการขาขาดใช้เท้าเทียมด้อยคุณภาพ Sach Foot น้ำหนักมากและไม่มีข้อเท้าทำให้เดินไม่ดี ดังนั้น ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาเท้าเทียมไดนามิกส์ (Dynamic Foot) คุณภาพสูงขึ้นซึ่งมีความยืดหยุ่นสามารถงอเท้าและเก็บพลังงานในเท้าเทียมได้ทำให้มีแรงส่งขณะเดิน ตัวเท้าทำจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์มีน้ำหนักเบาแข็งแรง ผู้พิการสวมใส่แล้วจะเดินในพื้นที่ขรุขระ ออกกำลังกาย และวิ่งเหยาะๆ ได้เหมือนคนปกติ เท้าเทียมที่พัฒนาขึ้นนี้ได้ทดสอบความแข็งแรงตามมาตรฐานสากล ISO 10328 จากประเทศเยอรมนีและได้การรับรองระบบบริหารคุณภาพ ISO 13485 ซึ่งผลงานเท้าเทียมไดนามิกส์นี้ได้ขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์แบบจดแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงการจดอนุสิทธิบัตร และขึ้นทะเบียน THAI SME-GP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย การขอใบรับรอง MIT (Made in Thailand) และการรับรองมาตรฐานสากล CE Mark อีกด้วย
วช. หนุน จุฬาฯ พัฒนาเท้าเทียมไดนามิกส์ ทางเลือกใหม่ผู้พิการขาขาด ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล