การคุ้มครองผู้พิการที่ปรากฏในสื่อโฆษณา | ผจญ คงเมือง
[/p]
[b]การพัฒนาสังคม จำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานในการขับเคลื่อน และภายใต้แนวคิดของรัฐเสรีประชาธิปไตยนั้น ทุกคนย่อมมีความสำคัญ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงมีความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน[/b]
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะยอมรับนับถือหลักการเช่นว่านั้นแล้ว แต่ในทางความเป็นจริง บุคคลก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ ไม่ว่าจะในเรื่องสติปัญญา ความสามารถ ร่างกาย จิตใจ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หลายอย่างเป็นอุปสรรคที่จะทำให้บุคคลมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่รัฐและสังคมควรต้องส่งเสริม ช่วยเหลือ อุดหนุน รวมถึงคุ้มครองเพื่อชดเชยให้บุคคลได้รับโอกาสและดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียม หรือใกล้เคียงกับบุคคลอื่นในสังคมอย่างเสมอภาค อันจะส่งผลในเรื่องการเป็นกำลังในการพัฒนาขับเคลื่อนสังคมให้ไปข้างหน้าต่อไปได้อีกทางหนึ่ง
ในสังคมไทย มีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ควรได้รับโอกาสและการส่งเสริมอย่างสำคัญยิ่ง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกับบุคคลอื่น ๆ ได้แก่ คนพิการ ซึ่งการยกระดับคุณค่าในความเป็นบุคคล ที่เท่าเทียมกันกับบุคคลปกติทั่วไป หรือการทำให้เป็นที่รับรู้กันในสังคมนั้น ช่องทางหนึ่งที่อาจกระทำก็ได้แก่ การกระทำผ่านการโฆษณา
การนำคนพิการมาปรากฏในสื่อโฆษณาในสังคมไทย ดูเหมือนจะคำนึงถึงแต่เพียงประโยชน์บางประการ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ขาดซึ่งสำนึกบางประการ จนเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันไปเสีย
ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ให้คำนิยามโดยกำหนดลักษณะและประเภทของการพิการไว้ว่าหมายถึง บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยินหรือสื่อความหมาย การเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความพิการทางออทิสติก
การคุ้มครองผู้พิการที่ปรากฏในสื่อโฆษณา | ผจญ คงเมือง