ฟังเสียงสะท้อนผู้พิการถึงภาครัฐ สิทธิ-สวัสดิการที่อยากได้เป็น 'ของขวัญปีใหม่ 65'
[/p]
โดย 'ผู้พิการ' ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเปราะบางในสังคมที่รัฐจะต้องความสำคัญ ดูแล คุ้มครอง และส่งเสริมให้สามารถมีดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564) ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัว 2,095,205 คน คิดเป็น 3.17% จากจำนวนประชากรไทยกว่า 66.18 ล้านคน โดยแบ่งเป็นเพศชาย 1,094,210 คน คิดเป็น 52.22% และเพศหญิง 1,00,995 คน คิดเป็น 52.22%
หากแยกตามภูมิภาค พบว่าผู้พิการส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 833,830 คน หรือคิดเป็น 39.80% รองลงมาเป็นภาคเหนือ 22.12% ภาคกลาง 20.88% ภาคใต้ 12.52% และกรุงเทพมหานคร 4.64%
อย่างไรก็ตามจำนวนผู้พิการที่กล่าวมานี้ อาจยังไม่ใช่จำนวนที่แท้จริงของผู้พิการ เนื่องจากยังมีผู้พิการที่ไม่ได้รับมาขึ้นทะเบียนอีก
โดยสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองคนพิการ สำหรับผู้พิการที่ได้ขึ้นทะเบียนและมีบัตรประจำตัวคนพิการแล้ว มีสิทธิที่จะยื่นคำขอใช้สิทธิเข้าถึงสวัสดิการและความช่วยเหลือจากรัฐ ตามมาตรา 20 แห่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 หรือตามที่กฎหมายอื่นกำหนด มีรายละเอียด ดังนี้
[b]เบี้ยความพิการ[/b]
ผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการจะได้รับเบี้ยความพิการเดือนละ 800 บาทต่อเดือน ซึ่งสามารถยื่นขอรับเบี้ยความพิการได้ที่สำนักงานเขต เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตามทะเบียนบ้านผู้พิการ
[b]การกู้ยืมเงินประกอบอาชีพ[/b]
ผู้พิการที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้ดูแลตามกฎหมาย สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนฯ คนกพิการได้ไม่เกิน 120,000 บาท และกู้รายกลุ่มไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยผ่อนชำระไม่เสียดอกเบี้ยภายใน 5 ปี
[b]การช่วยเหลือทางกฎหมาย[/b]
ผู้พิการสามารถขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดหาทนายความว่าต่าง แก้ต่างให้ผู้พิการที่มีความยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรม
[b]ปรับสภาพที่อยู่อาศัย[/b]
การปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้พิการ เช่น การปรับห้องน้ำ การติดตั้งราวจับ การปรับสภาพผิวทางเดิน รายละไม่เกิน 20,000 บาท
[b]สิทธิทางอาชีพ[/b]
ผู้พิการสามารถเข้ารับการฝึกอาชีพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น ในส่วนการจ้างงาน นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ ทั้งเอกชนและหน่วยงานของรัฐ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป ต้องรับคนพิการที่สามารถทำงานทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดเข้าทำงาน
[b]สิทธิทางการศึกษา[/b]
ผู้พิการมีสิทธิได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่เริ่มเรียนจนถึงปริญญาตรี และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดสกสื่อบริการความช่วยเหลือทางการศึกษา
[b]สิทธิทางการแพทย์[/b]
สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ฟื้นฟูสมรรถภาพ การรักษาพยาบาล กายอุปกรณ์และเครื่องช่วยคนพิการต่างๆ รวมถึงคำแนะนำปรึกาทางการแพทย์
แม้ว่า รัฐจะมอบสิทธิ สวัสดิการ และให้ความช่วยเหลือผู้พิการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ในบางครั้งสิทธิ และสวัสดิการต่างๆ นั้น อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ในการดำเนินชีวิตของผู้พิการ ในวารดิถีขึ้นปีใหม่ 2565 นี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้พูดคุยกับตัวแทนผู้พิการในกลุ่มต่างๆ ถึงของขวัญปีใหม่ที่พวกเขาอยากจะได้จากรัฐ
[b]พ.ต.ศิริชัย ทรัพย์ศิริ นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล[/b] ตัวแทนผู้พิการ และคณะทำงานช่วยเหลือผู้พิการตลอดเกือบ 20 ปี กล่าวว่า สวัสดิการที่ผู้พิการอยากจะได้เป็นของขวัญปีใหม่ปี 2565 จาก ภาครัฐนั้น สามารถแบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
[b]อยากเพิ่ม 'เบี้ยยังชีพคนพิการ' จาก 800 บาท เป็น 1,000 บาท[/b]
พ.ต.ศิริชัย กล่าวอธิบายว่า เนื่องจากผู้พิการในสถานการณ์ปกติ ก็ถือว่าดำเนินชีวิตได้ยากลำบากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว ประพกอบกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และวิกฤติเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ไม่มีงานทำในการหารายได้เลี้ยงชีพ
[b]อยากเพิ่มสิทธิการค้าขายของผู้พิการจาก 1 สิทธิ เป็น 2 สิทธิ[/b]
ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 35 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 หรือสถานประกอบการไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามมาตรา 34 หน่วยงานของรัฐหรือสถานประกอบการนั้น อาจดำเนินการให้สัมปทาน/จัดสถานที่จําหน่ายสินค้าหรือบริการ/จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการด้วยวิธีพิเศษ/ฝึกงาน/จัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก/จัดให้มีล่ามภาษามือ/ให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้
[b]"เพราะว่าบางพื้นที่ที่สถานประกอบการจัดสรรให้นั้น ทำเลไม่ดี ขายของไม่ได้ ถ้ามี 2 ที่ อย่างน้อยก็ช่วยแบ่งเบาได้ ทีหนึ่งขายไม่ได้ อีกหนึ่งที่ก็ยังขายได้ เพื่อให้ได้มีรายได้ แต่ถ้าพูดว่าจะมีปัญหาเรื่องการลดหย่อนภาษี 2 ที่ รัฐก็ควรแก้ไขปัญหาในการจัดสรรแบ่ง 2 ส่วนในการลดหย่อนภาษี เช่น สามารถลดหย่อนได้ 1 แสนบาท ก็แบ่งเป็นที่ละ 5 หมื่นบาท เป็นต้น" พ.ต.ศิริชัย กล่าว
อยากให้ผู้พิการสามารถต่อใบขับขี่รถสาธารณะได้[/b]
พ.ต.ศิริชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้พิการจะได้รับอนุญาตให้ทำใบขับขี่เฉพาะรถยนต์/รถจักยานยนต์ ประเภทส่วนบุคคลเท่านั้น แต่อยากจะขอให้ผู้พิการสามารถขออนุญาตขับรถสาธารณะได้ เนื่องจากผู้พิการบางส่วน สามารถขับรถได้อยู่แล้ว ก่อนที่จะประสบเหตุทำให้พิการภายลัง
[b]"การที่รัฐไปจำกัดว่าคนพิการไม่สามารถขับรถรับจ้างได้ แต่ในทางปฏิบัติสามารถทำได้ ทำให้เขาไม่สามารถต่อใบขับขี่ได้ อีกทั้งบางครอบครัวคนพิการเหล่านั้นคือเสาหลักครอบครัว ซึ่งมีจำนวนเยอะมาก แต่ไม่ได้รับการต่อใบขับขี่เพื่อประกอบอาชีพ เช่น คนขับรถแท็กซี่ คนขับรถหกล้อรับจ้าง" พ.ต.ศิริชัย กล่าว[/b]
พ.ต.ศิริชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้พิการส่วนใหญ่ไม่รู้ถึงสิทธิของตนเอง แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะมีหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือที่ดีมาก นอกจากนั้น ปัญหาอยู่ที่ขั้นตอนการปฏิบัติของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับผู้พิการ ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง ขั้นตอนช่วยเหลือที่มีข้อจำกัดและยากลำบาก รวมถึงงบประมาณไม่เพียงพอ
[b]นายเอกกมน แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวถึงของขวัญปีใหม่ที่อยากได้จากภาครัฐว่า ประเด็นแรก คือ การขึ้นเบี้ยดำรงชีพคนพิการถ้วนหน้า จากเดิม 800 บาท เป็น 1,000 บาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ผลักดันกันมาตลอด[/b]
[b]"ที่ผ่านมามติคณะรัฐมนตรีจะมีการปรับเพิ่มสวัสดิการเบี้ยความพิการจาก 800 บาทต่อคนต่อเดือน เป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน แต่เฉพาะกลุ่มผู้พิการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 1.2 ล้านคน จากผู้พิการทั้งหมดราว 2 ล้านคน เหลืออีกประมาณ 8 แสนคน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่พอสมควร" นายเอกกมล กล่าว[/b]
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 น.ส.สราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2564 ซึ่งมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุม กพช.ได้เห็นชอบการปรับเพิ่มสวัสดิการเบี้ยความพิการจาก 800 บาทต่อคนต่อเดือน เป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับกลุ่มคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยได้มอบให้ พก.เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป
นายเอกมล กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ คือ การจ้างงานผู้พิการ ตามที่การจ้างงานคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจ้างงานคนพิการเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้คนพิการได้มีส่วนร่วมในสังคม มีโอกาสในการเข้าถึงการประกอบอาชีพ ได้ใช้ศักยภาพของตนเอง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมาตราที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานคนพิการ
ที่ผ่านมาในภาคเอกชนเกือบจะทั้งหมด 100% ได้มีการดำเนินการตามกฎหมายแล้ว เหลือในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ที่แม้จะมีการจ้างงานผู้พิการบ้าง แต่ก็ไม่เป็นไปตามสัดส่วน จ้างเพียงแค่ราว 10% เท่านั้น อาจเป็นเพราะว่า ในส่วนของภาครัฐอาจจะไม่ได้มีข้อกำหนดไว้ ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาส่งเสริมคนพิการได้ หรืออาจเป็นเพราะหน่วยงานนั้นๆ ไม่แน่ใจว่าต้องไปจ้างงานผู้พิการจากที่ไหน หรือไม่ทราบว่าอาจจะช่วยเหลืออื่นใดได้
[b]"ยิ่งเฉพาะสภาวะโควิด-19 ถ้าหน่วยงานภาครัฐเข้ามามีส่วนในการจ้างงานคนพิการ จะทำให้ผู้พิการมีรายได้ ก็จะช่วยยกระดับชีวิตได้ อีกทั้งจะได้ช่วยเหลือผู้พิการอีกนับหมื่นคนให้สามารถดูแลเลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศชาติได้" นายเอกมล กล่าว[/b]
นายเอกมล กล่าวถึงการประกอบชีพผู้พิการทางสายตาว่า การขายสลากินแบ่งรัฐบาล เป็นอาชีพที่คนตาบอดยึดเป็นอาชีพหลักนับหมื่นคน และอยากจะให้คนตาบอดประกอบอาชีพค้าสลากต่อไป จึงไม่อยากให้มีแพลตฟอร์มออนไลน์มาทดแทน และการเปิดลงทะเบียนการขายสลากเสรี ที่มีการเปิดให้คนทั่วไปลงทะเบียนผ่านไปรษณีย์ อยากจะฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยสงวนโควตาสลากส่วนหนึ่งไว้ให้ผู้พิการได้มีโอกาสลงทะเบียน และเป็นผู้จำหน่ายสลากกับทางภาครัฐ เพื่อที่จะเป็นหนทางช่วยให้ผู้พิการมีอาชีพที่มั่นคง
ในส่วนของการดำเนินชีวิตประจำวัน นายเอกมล กล่าวว่า อยากจะให้ระบบสาธารณะเอื้ออำนวยต่อผู้พิการมากขึ้น เพราะผู้พิการ เช่น คนตาบอด ก็จะมองไม่เห็นสายรถเมล์ รถเมล์ก็ไม่เอื้อให้คนนั่งวีลแชร์ เป็นต้น
แต่ถ้าพูดถึงเฉพาะในมุมมองของผู้พิการทางสายตา นายเอกมล กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทะเบียนรับสวัสดิการ หรือการติดตามข่าวสารจะเป็นผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งคนตาบอดก็จะมีแอปพลิเคชัน หรือฟังก์ชันโปรแกรมสำหรับการอ่านหน้าจอ แต่ในบางครั้งเว็บไซต์หรือแอปฯ ของหน่วยงานภาครัฐ ก็ไม่รองรับในการใช้งานร่วมกัน จึงอยากให้ช่วยกวดขันเพื่อให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงข่าวสารและสวัสดิการต่างๆ ได้
นายเอกมล กล่าวเน้นย้ำว่า ตนเชื่อว่าทัศนคติของคนในสังคมมีผลอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของคนพิการ ไม่ว่าภาครัฐหรือคนในสังคมมองคนพิการอย่างไรนั้น จะส่งผลต่อนโยบายการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ของคนพิการโดยตรง
[b]"ถ้าคนในสังคมมองว่าผู้พิการเป็นคนไม่มีความสามารถ ต้องให้คนช่วยตลอดเวลา ก็จะเป็นการปิดกั้นโอกาสของคนพิการ ถ้ามองว่าทำอะไรไม่ได้ บริษัทต่างๆ ก็ไม่อยากจะรับคนพิการเข้าทำงาน หรือแม้ว่าคนพิการไปทำธุรกรรมต่างๆ เปิดบัญชี ก็จะไม่ให้เปิด แต่ถ้าคนในสังคมมีความเชื่อมั่น สื่อต่างๆ นำเสนอภาพลักษณ์ในเชิงบวก เข้าใจอย่างถูกต้อง จะทำให้คนพิการมีโอกาสทั้งในด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ และการทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติมากยิ่งขึ้น" นายเอกมล กล่าวทิ้งท้าย[/b]
ฟังเสียงสะท้อนผู้พิการถึงภาครัฐ สิทธิ-สวัสดิการที่อยากได้เป็น 'ของขวัญปีใหม่ 65'