เรื่องของผู้พิการใครว่าไม่เกี่ยวกับเรา - สิ่งที่ไทยอาจเรียนรู้จากญี่ปุ่น
[/p]
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน พาราลิมปิกโตเกียว 2020 จบสิ้นลงใช่ว่าญี่ปุ่นไม่มีอะไรต้องทำต่อ แต่ญี่ปุ่นกำลังมุ่งสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างแท้จริงไว้เป็นมรดกของพาราลิมปิกครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ คนชรา คนต่างชาติ หรือคนกลุ่มใดก็ตาม ที่ผ่านมาสังคมญี่ปุ่นมีความแบ่งแยกอย่างไร กำลังหาทางออกอย่างไร และประเทศไทยเราจะเรียนรู้อะไรจากญี่ปุ่นได้บ้าง มาดูกันดีกว่า
[b]สังคมที่แบ่งแยกผู้พิการออกจากผู้ไม่พิการ [/b]
ตอนที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพพาราลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 1964 นั้น สังคมญี่ปุ่นยังมองว่าผู้พิการคือคนที่ต้องได้รับความคุ้มครองดูแล ไม่ได้มองไปถึงว่าพวกเขาเล่นกีฬาได้ แต่แล้วญี่ปุ่นก็ต้องตกใจเมื่อเห็นนักกีฬาผู้พิการชาวตะวันตกสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง แถมเข้าสังคมอยู่ท่ามกลางคนที่ไม่พิการด้วย ญี่ปุ่นเลยเล็งเห็นขึ้นมาว่าผู้พิการก็สามารถอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นได้ พาราลิมปิกครั้งนั้นจึงถือเป็นก้าวแรกของญี่ปุ่นที่จะให้ผู้พิการกับผู้ไม่พิการได้อยู่ร่วมกัน มีการส่งเสริมให้ผู้พิการได้มีบทบาทในสังคม และสร้างสถานที่เล่นกีฬาเพื่อผู้พิการด้วย
แม้ว่าที่ผ่านมาญี่ปุ่นจะมีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับผู้พิการบ่อยครั้งเพื่อให้พวกเขาได้มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น อีกทั้งมีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้พิการสามารถไปไหนมาไหนและทำอะไรได้ไม่ลำบาก แต่ผู้พิการกับผู้ไม่พิการก็มักใช้ชีวิตแยกขาดจากกัน เช่น ผู้พิการเรียนในโรงเรียนของผู้พิการ ทำงานในบริษัทหรือร้านเพื่อผู้พิการ ทำกิจกรรมเฉพาะกลุ่มผู้พิการ ไม่ค่อยเห็นผู้พิการกับผู้ไม่พิการอยู่ด้วยกันบ่อยนัก ทั้ง ๆ ที่จากสถิติแล้วประชากรญี่ปุ่นถึง 1 ใน 16 คนมีความบกพร่องทางกาย ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย
อาจเพราะผู้ไม่พิการในญี่ปุ่นแทบไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับผู้พิการในชีวิตประจำวันเช่นนี้เอง จึงเป็นเหตุให้คนในสังคมมองผู้พิการด้วยความรู้สึกแปลกและเข้าใจพวกเขาผิดได้ง่าย เช่น มองว่าพวกเขาไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก หรือต้องรอความช่วยเหลือจากคนอื่นเสมอ และเมื่อจำเป็นต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้พิการก็ทำตัวไม่ถูก
[b]มรดกพาราลิมปิก 2020 “universal design” และ “barrier-free mind”[/b]
ญี่ปุ่นมองว่าต่อให้สามารถสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานเพื่อผู้พิการได้มากแค่ไหน มีกฎหมายคุ้มครองผู้พิการที่ดีขึ้นเท่าใด แต่ถ้าหากคนในสังคมยังไม่เข้าใจผู้พิการ รวมทั้งไม่เข้าใจว่าจะอยู่ร่วมกับคนที่ต่างจากตัวเองได้อย่างไร ความพยายามของญี่ปุ่นก็จะไม่เกิดประโยชน์มากนัก ญี่ปุ่นจึงหันมาให้ความสำคัญกับปรับทัศนคติของคนในสังคม เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความต่างระหว่างบุคคล เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือกัน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งญี่ปุ่นเรียกสิ่งนี้ว่า “barrier-free mind” (心のバリアフリー) หรือหมายถึง “ใจที่ปราศจากอคติ” และในขณะเดียวกันก็มีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการใช้งานสำหรับคนทุกกลุ่ม ซึ่งเรียกกันว่า “universal design” (การออกแบบเพื่อทุกคน) ไปพร้อม ๆ กันด้วย
เรื่องของผู้พิการใครว่าไม่เกี่ยวกับเรา - สิ่งที่ไทยอาจเรียนรู้จากญี่ปุ่น