สธ. จัด ‘วิวาห์สร้างชาติ’ มุ่งสร้างประชากรคุณภาพ แก้ปัญหา ‘เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ’
[/p]
[b]กระทรวงสาธารณสุข ประกาศนโยบายวิวาห์สร้างชาติ ส่งเสริมคุณภาพประชากร เน้นให้คู่รักทุกคู่ เตรียมความพร้อมก่อนแต่งและก่อนมีลูก ส่งเสริมให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ที่ใช้ชีวิตคู่ และวางแผนจะมีบุตร กินวิตามินเสริมธาตุเหล็กและ โฟลิก สัปดาห์ละ 1 เม็ด ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดความพิการแต่กำเนิด และให้คู่รักตรวจสุขภาพที่จำเป็นตามกลุ่มวัยและตามสิทธิ เพื่อให้การเกิดทุกรายมีคุณภาพ ลูกแข็งแรงและมีพัฒนาการสมวัย แก้ปัญหา “เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ” เพื่อให้ครอบครัวมีคุณภาพ[/b]
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าวและขับเคลื่อนนโยบายวิวาห์สร้างชาติ “รักเตรียมพร้อม เพื่อครอบครัวคุณภาพ” ว่า จากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมไทยในปัจจุบัน ผู้หญิงไทยมีการศึกษาสูงขึ้น ทำงานนอกบ้านมากขึ้น คนรุ่นใหม่ทั้งหญิงและชาย มีค่านิยมที่จะอยู่เป็นโสด แต่งงานช้าลง ชะลอการมีบุตร หรือมีบุตรจำนวนน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากเห็นว่าการมีบุตรทำให้ขาดความสมดุลระหว่างการทำงานและการมีชีวิตครอบครัว ส่งผลให้จำนวนการเกิดที่เคยมีมากกว่า 1 ล้านคน ลดลงเหลือเพียง 663,740 คนในปี 2562 นอกจากปัญหาจำนวนการเกิดแล้ว ประเทศไทยยังประสบปัญหาคุณภาพการเกิดด้วย ไม่ว่าจะเป็นการตายในทารก เด็กน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ รวมถึงความพิการแต่กำเนิด จากข้อมูลผู้ตรวจการแผ่นดินพบว่า เด็กมีภาวะความพิการแต่กำเนิดประมาณ ร้อยละ 4.3 ของทารกคลอดมีชีพ หรือประมาณปีละกว่า 28,500 คน เมื่อเทียบกับสถิติการเกิดของเด็กไทย ปี 2562 ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจขององค์การอนามัยโลกที่พบว่า มีทารกพิการแต่กำเนิด ร้อยละ 3-5 หรือปีละประมาณ 8 ล้านคน จากทารกที่คลอด 130 ล้านคนต่อปี โดยข้อมูลจากสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) รายงานความพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อยคือ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ความพิการของสมองและไขสันหลัง ปากแหว่ง/เพดานโหว่ ความพิการของแขน-ขา กลุ่มอาการดาวน์ ซึ่งสาเหตุเกินครึ่งหนึ่งมีผลมาจากพันธุกรรม หากป้องกัน ก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดความพิการได้
สธ. จัด ‘วิวาห์สร้างชาติ’ มุ่งสร้างประชากรคุณภาพ แก้ปัญหา ‘เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ’