ชีวิตบนถนนของคนพิการขาที่ผันตัวมาเป็นคนขับรถรับส่งผู้โดยสาร
[/p]
[b]"สังคมไม่ปรับ คนพิการมากกว่าที่ปรับเข้าสังคม"[/b]
ศักดิ์จุติไม่ได้ซื้อรถยนต์มาเพื่อประกอบอาชีพเสริมในการขับรถรับส่งเพียงอย่างเดียว แต่วัตถุประสงค์หลักของการซื้อรถคือความสะดวกในการเดินทางสำหรับคนพิการทางการเคลื่อนไหว
เขาเล่าถึงประสบการณ์ก่อนมีรถยนต์ส่วนตัว เขามักจะเรียกใช้บริการแท็กซี่ แต่มักจะโดนปฏิเสธอยู่บ่อยครั้ง
"ส่วนใหญ่แล้วแท็กซี่จะปฏิเสธเพราะมีวีลแชร์ เขากลัววีลแชร์จะทำเบาะเขาขาด จนบางทีผมต้องคิดวิธีให้คนที่ผ่านไปผ่านมา รบกวนเขาช่วยเรียกแท็กซี่ให้หน่อย เขาถึงจะยอมรับเรา" ศักดิ์จุติเล่าถึงปัญหาที่เขาเคยเผชิญ
นอกจากนั้นเขากล่าวถึงปัญหาของการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะว่า ในบางครั้งเขาต้องเข็นวีลแชร์ข้ามถนนเพื่อไปขึ้นลิฟต์ไปยังสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เนื่องจากมีลิฟต์อยู่ฝั่งเดียว
"ผมต้องเข็นตามข้างถนน ที่เบียด ๆ กับรถมอเตอร์ไซค์ บางทีเราก็กลัวเหมือนกันไม่ใช่ไม่กลัว แต่บางทีเราก็ต้องไปถึงจุดหมายให้ได้ นี่คืออุปสรรคอย่างหนึ่งเลย...พูดถึงอุปสรรคหลาย ๆ อย่างในการเดินทาง ก็ต้องวางแผนเลย ต้องคิดตั้งแต่ว่าเราจะไปไหน เป้าหมายตรงนี้ ต้องหาข้อมูลไว้เลยว่าเราจะไปลงตรงนี้ ลิฟต์มีไหม" เขาเล่าถึงความยากลำบากยามเดินทางของคนพิการในประเทศไทย
หลังจากที่เขาซื้อรถยนต์ส่วนตัวมาขับ ศักดิ์จุติรู้สึกว่าการเดินทางสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิมมาก เขาสามารถไปยังที่ที่อยากไปได้ และมีที่จอดรถสำหรับคนพิการด้วย
"สังคมไม่ปรับ แต่ตัวคนพิการมากกว่าที่ปรับเข้าสังคม...คือเราต้องปรับชีวิตหลาย ๆ อย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องทางเท้าหรือเรื่องบนท้องถนน อย่างบางทีเราไปดูหนัง มีบันได ไม่มีที่นั่งให้คนพิการ เราต้องยอมจ่ายเพิ่มขึ้นเป็นที่นั่งโซฟา ยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อเข้าไปดูหนัง นี่แหละครับถึงบอกว่าเราต้องปรับเข้าสังคม"
ชีวิตบนถนนของคนพิการขาที่ผันตัวมาเป็นคนขับรถรับส่งผู้โดยสาร