การจ้างงานคนพิการในญี่ปุ่น
[/p]
จากกฎหมายเดิมตั้งแต่ทศวรรษ 60 จนถึงปลายทศวรรษ 80 ญี่ปุ่นส่งเสริมการจ้างงานคนพิการอยู่แล้ว และสิ่งที่ถือว่าเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญหลังจากมีกฎหมายใหม่ (ฉบับปัจจุบัน) เมื่อปี 2530 คือการเพิ่มประเภทของผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญาเข้าไปด้วยเมื่อปี 2541 และต่อมาก็เพิ่มเข้าไปอีก 1 ประเภท ซึ่งทางการแพทย์ระบุแยกไว้เป็นคนละคำ ได้แก่ “ความบกพร่องทางสติปัญญา” (intellectual disablity) กับ “ความผิดปกติทางจิตประสาท (และอารมณ์)” (mental disorder)
สองคำนี้ถ้าฟังผ่าน ๆ มักมีคนไม่ตระหนักถึงความแตกต่าง แต่ถ้าลงลึกในรายละเอียดจริง ๆ แล้วมีข้อปลีกย่อยต่างกัน อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดคือ ความบกพร่องทางสติปัญญามักพูดถึง IQ หรือพัฒนาการทางสมอง ส่วนความผิดปกติทางจิตประสาทมักพูดถึงการแสดงออกทางอารมณ์และการสื่อสารด้วย (แต่ทั้ง 2 กรณีมักเกี่ยวกับการทำงานของสมองและระบบประสาท) ซึ่งทำให้การวินิจฉัยซับซ้อนยิ่งขึ้น อย่างหลังนี้ ญี่ปุ่นแยกออกมาเป็นเอกเทศในปีนี้ ในญี่ปุ่นผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเข้าข่ายความพิการอย่างใดอย่างหนึ่งจะได้รับเอกสารยืนยันจากแพทย์ และนำไปใช้อ้างสิทธิ์การสมัครเข้าทำงานในฐานะคนพิการได้
อย่างไรก็ตาม แม้มีกรอบเป็นตัวเลขเป้าหมาย แต่ปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐบาลเองกลับปลอมแปลงตัวเลขให้ดูสูงเข้าไว้ทั้ง ๆ ที่จ้างงานคนพิการไม่ได้ตามเป้า ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานฯ ของญี่ปุ่นจัดการสำรวจและพบว่า ในหน่วยงาน 33 แห่ง มี 27 แห่งหรือราว 80% บวกตัวเลขเข้าไปเพื่อทำให้ตัวเลขดูดีเสมือนว่ามีการจ้างงานคนพิการจริง และพบว่าตัวเลขรวมทั้งหมดที่งอกเกินความเป็นจริงขึ้นมาคือ 3,460 คน เมื่อยกตัวอย่างบางหน่วยงานเทียบกับตัวเลขเป้าหมาย 2.2% พบว่าสำนักคณะรัฐมนตรีจ้างคนพิการได้จริง 1.14% แต่เพิ่มตัวเลขลงไปอีก 27 คน, สำนักงานผู้บริโภคจ้างคนพิการได้จริง 0.12% แต่เพิ่มตัวเลขลงไปอีก 9.5 คน เป็นต้น รวมแล้วอัตราการจ้างงานคนพิการได้จริงคือ 1.19% เท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นคือ ว่ากันว่าหน่วยงานรัฐไม่สามารถ ‘สร้างงาน’ ขึ้นมารองรับคนพิการได้เพียงพอ เมื่อเทียบบริษัทเอกชนซึ่งก็ต้องจ้างงานคนพิการเช่นกัน ปรากฏว่าบริษัทเอกชนดำเนินการได้คล่องตัวกว่า ในกรณีเอกชนของญี่ปุ่น ถ้ามีพนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จะต้องจ้างคนพิการ 1 คน (ทำนองเดียวกับของไทย) หากว่าจ้างไม่ได้ตามกำหนดจะต้องจ่ายเป็นเงินแทน (จะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ ค่าปรับ? เงินสมทบ? ของไทยเรียกว่าเงินสมทบกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตกปีละประมาณ 1 แสนบาทเศษ, ส่วนของญี่ปุ่นคือเดือนละ 50,000 เยน ตกปีละ 6 แสนเยน หรือราว 2 แสนบาท) และหากไม่มีงานรองรับเพียงพอ ก็สามารถตั้ง “บริษัทลูกประเภทพิเศษ” ขึ้นมาเพื่อ ‘สร้างงาน’ ให้คนพิการทำได้
การจ้างงานคนพิการในญี่ปุ่น