ดันความรู้อนามัยเจริญพันธุ์ให้เยาวชนผู้พิการเข้าถึงเท่าเทียม
[/p]
[b] “เราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแต่ไม่ใช่ถูลู่ถูกัง หรือพยายามหิ้วกันไป มันไม่พอ ต้องพร้อมเดินไปด้วยกัน ด้วยการเสริมพลังและโอกาสให้ทุกคนเท่าเทียม” [/b]
เยาวชนที่มีความพิการทั่วประเทศมีการรับรู้และเข้าถึงทางด้านเพศศึกษาหรืออนามัยการเจริญพันธุ์เพียงบางจุด กล่าวคือ “เข้าถึง แต่ไม่เข้าใจ” ความรู้เรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ส่วนใหญ่เรียนรู้จากพ่อแม่ ซึ่งสอนการป้องกันการตั้งครรภ์มากกว่าป้องกันการถูกละเมิดสิทธิทางเพศ มีสถานสงเคราะห์และโรงเรียนสำหรับผู้พิการเพียงไม่กี่แห่งที่สอนเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมไปถึงข้อมูลในปัจจุบันเป็นข้อมูลที่จัดทำขึ้นให้เยาวชนทั่วไป ไม่ใช่เยาวชนที่มีความพิการ ดังนั้นการแปลงสารผ่านทางครูจึงมีเพียงบางส่วนไม่ครบถ้วน
ล่าสุดกองทุนสหประชาชาติเพื่อประชากร-ยูเอ็น เอฟพีเอ ร่วมลงนาม เอ็มโอยู กับ 3 องค์กรภาคี ได้แก่ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยมหิดล เดินหน้าสร้างความเท่าเทียมแก่เยาวชนที่มีความพิการ ให้เข้าถึงอนามัยการเจริญพันธุ์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและรักษาสิทธิมนุษยชนซึ่งเยาวชนทุกคนพึงได้รับ
จาก พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการบนพื้นฐานสิทธิวัยรุ่น ซึ่งมี 5 กระทรวงหลักทำหน้าที่ออกกฎหมายและระเบียบให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย โดยในมาตรา 5 กล่าวไว้ว่า วัยรุ่นมีสิทธิสำคัญอยู่ 6 ด้าน ได้แก่ 1.สิทธิในการตัดสินใจโดยตนเอง 2.สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารความรู้ 3.สิทธิในการได้รับบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ 4.สิทธิในการรักษาความลับ ความเป็นส่วนตัว 5.สิทธิในสวัสดิการสังคม 6. สิทธิในการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
ดันความรู้อนามัยเจริญพันธุ์ให้เยาวชนผู้พิการเข้าถึงเท่าเทียม