ใช้ชีวิตในประเทศไทย เป็นอย่างไรสำหรับคนพิการ
[/p]
[b]โอกาสทางการทำงานของคนพิการทางการมองเห็น[/b]
เป็นครั้งที่แรก ๆ ที่ หทัยรัตน์ จตุรวัฒนา คนพิการทางการมองเห็น วัย 27 ปี มากรุงเทพฯ ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ได้เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวกับคนรู้จัก
บีบีซีไทยนัดพบเธอที่สถานีรถไฟฟ้าบางหว้า ปลายทางที่เดินทางมาจากบ้านใน จ.นครปฐม เราสื่อสารกันด้วยโทรศัพท์มือถือเพื่อถามพิกัดของเธอบนสถานี ก่อนเสียงปลายสายจะกลายเป็นเสียงจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรถไฟฟ้า ที่เป็นคนบอกบริเวณที่แน่ชัดที่เราจะได้พบกับเธอ
หทัยรัตน์ เกิดมาด้วยด้วยสายตาที่มองเห็นได้เพียงข้างเดียว จนกระทั่งอายุ 14-15 ปี ก็สูญเสียการมองเห็นทั้งสองข้าง
[b]เธอเล่าประสบการณ์การไปสมัครเรียนเข้าชั้นมัธยมหลังจากตาบอดทั้งสองข้าง[/b]
” ผอ.โรงเรียนบอกว่า ไม่รับคนพิการ ก็เข้าใจนะว่าไม่รู้เหมือนกันว่าเขาจะสอนยังไง แต่เด็กคนหนึ่งอายุ 11-12 ขวบ ก็รู้สึกว่า เราจะไม่ได้เรียนหนังสือต่อเหรอ เลยรวบรวมความกล้าทั้งหมด ขึ้นไปคุยกับ ผอ. บอกครูคะหนูอยากเรียนจริง ๆ รับหนูไว้เถอะ ไม่ต้องสอนหนูแบบ คนตาบอดก็ได้ สอนหนูเหมือนกับว่าเป็นคน ๆ หนึ่ง เป็นเด็กทั่วๆ ไป เดี๋ยวหนูเรียนเอง”
จากวันนั้นจนเรียนจบชั้นปริญญาตรีเป็นบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม หทัยรัตน์ บอกกับบีบีซีไทยว่า เธอเรียนในสถาบันการศึกษาที่ไม่มีสื่อการเรียนการสอนสำหรับผู้พิการทางสายตาเลย
“เราขวนขวายเองมาตลอด ไม่มีหนังสือเรียนอักษรเบรลล์ อยากเรียนมหาวิทยาลัยก็ใช้วิธีการให้เพื่อนอ่านหนังสือ อัดเสียง หรือว่าเวลาครูสอนในชั้น ก็จะจดเป็นอักษรเบรลล์สำหรับคนตาบอด หรือไม่ก็ใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์”
หลังจากก้าวสู่โลกของวัยทำงาน ก่อนจะผันตัวมาทำข้อมูลรายการโทรทัศน์ และก็เขียนบทกวีไปด้วย หทัยรัตน์เคยสมัครงานตามสถานประกอบการ “ไปสมัครที่ไหนก็ไม่รับ เพราะว่าเป็นคนตาบอด” เธอบอกกับเรา
แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายที่ให้บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ที่มีพนักงาน 100 คนขึ้นไป ต้องมีสัดส่วนรับคนพิการ 1 คน เข้าทำงาน ตามมาตรา 33 และ 35 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2550 แต่หทัยรัตน์ เล่าสิ่งที่เธอเคยเจอมาว่า สถานประกอบการมักจะมีทัศนะคิดว่า คนตาบอด “ทำอะไรไม่ได้” และรู้สึกว่าคนพิการแขนขาขาด ทำได้มากกว่า
“เขาบอกเราตรง ๆ นะ ว่าไม่รู้ว่าจะรับมาแล้วจะใช้ทำงานอย่างไร ทั้งที่เราก็บอกแล้วว่า เราใช้คอมฯ ได้ ทำอะไรได้หมด บางทีเขาก็บอกว่าสถานที่ไม่เอื้ออำนวยบ้าง” หทัยรัตน์เล่า
“เขาอาจจะติดภาพที่เคยเห็นว่าคนตาบอด ก็ร้องเพลง ขายล็อตเตอรี่ ทำได้แค่นั้น”
ตำแหน่งงานคนพิการ 2.2 หมื่น ที่ไม่ถูกจ้าง
อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานกรรมการมูลนิธิมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม อธิบายให้บีบีซีไทยฟังถึงสถานการณ์การจ้างงานคนพิการของสถานประกอบการว่า ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2550 สถานประกอบการทั่วประเทศต้องจ้างคนพิการทั้งประเทศราว 55,000 อัตรา
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีการจ้างคนพิการไม่ถึงร้อยละ 60 ซึ่งหมายถึง มีอีก 22,000 อัตรา ที่คนพิการที่ควรจะถูกจ้างงาน และตามกฎหมาย หากไม่ได้จ้างคนพิการ สถานประกอบการสามารถจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อคนพิการได้
ใช้ชีวิตในประเทศไทย เป็นอย่างไรสำหรับคนพิการ – BBCไทย