ยิ้มสู้คาเฟ่ พนักงานหูหนวกชงกาแฟ-เสิร์ฟให้ สาขาใหม่ คณะนิติ มธ.
[/p]
[b]ภายในร้านกาแฟแห่งหนึ่งย่านปิ่นเกล้า พนักงานคนหนึ่งยิ้มให้ลูกค้าที่เดินเข้ามาอย่างสุภาพ เธอชี้ไปยังป้ายแผ่นหนึ่งที่ตั้งอยู่บนเคาน์เตอร์ [/b]
[b] “พนักงานหูหนวกยินดีให้บริการค่ะ โปรดสั่งอาหารและเครื่องดื่มโดยการชี้เมนู” [/b]
เป็นเวลาเกือบสองปีแล้วที่มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการผุดไอเดียเปิดร้านกาแฟและอาหารชื่อ “ยิ้มสู้ คาเฟ่” โดยมีพนักงานในร้านเป็นคนพิการ และเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ยิ้มสู้คาเฟ่ได้ขยายเพิ่มอีกหนึ่งสาขาไปยังตึกเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ผู้สื่อข่าวจึงได้แวะเข้าไปเยี่ยมเยียนคาเฟ่ทั้งสองสาขาเพื่อพูดคุยกับพนักงานร้าน และอีกหนึ่งคนที่ลืมไม่ได้คือ ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้ก่อตั้งร้านและประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ คุณวิริยะเดินออกมาพร้อมไม้เท้าคู่ใจตามเวลานัด
คุณวิริยะเป็นผู้พิการทางสายตา ตอนวัยรุ่นเขาประสบอุบัติเหตุจนทำให้ดวงตาของเขาบอดสนิททั้งสองข้าง หลายคนอาจเคยคุ้นชื่อของเขาในฐานะอาจารย์คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณวิริยะเล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเองว่า เขาตัดสินใจเปิดร้านยิ้มสู้คาเฟ่ในช่วงปลายปี 2559 โดยปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่างของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการให้เป็นร้านกาแฟและอาหาร ส่วนชื่อของร้านนั้น อาจารย์กล่าวว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานให้เป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้พิการทางสายตา
ส่วนแนวคิดของการเปิดร้านนั้นมาจากสถิติข้อมูลของคนพิการวัยทำงานในประเทศไทย คุณวิริยะกล่าวว่าตอนนี้ตัวเลขคนพิการในวัยทำงานทั้งประเทศมีจำนวน 7 แสนคน แต่มีงานทำจริง ๆ 1 แสนกว่าคนเท่านั้น
ตามพ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปีพ.ศ. 2550 องค์กรภาครัฐและเอกชนทุกแห่งต้องจ้างงานคนพิการ ในอัตราคนพิการ 1 คนต่อลูกจ้างทั่วไป 100 คน ซึ่งองค์กรที่ปฏิบัติตามจะได้รับการลดหย่อนภาษี
หากไม่ยอมจ้างคนพิการตามที่กำหนด องค์กรนั้นๆ จะต้องบริจาคให้กับกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ยิ้มสู้คาเฟ่ พนักงานหูหนวกชงกาแฟ-เสิร์ฟให้ สาขาใหม่ คณะนิติ มธ.