วีลแชร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยสายตา คว้ารางวัลนวัตกรรมระดับโลก
[/p]
[b]วีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะควบคุมด้วยสายตา เคลื่อนไหวด้วยเทคโนโลยี Eye tracking เพียงสายตาจ้องไปยังทิศทางที่ต้องการจะไป วีลแชร์นี้ก็จะเคลื่อนตัวมุ่งไปยังทิศทางนั้นทันที [/b]
[b]โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 จากสถิติโลก และยังเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการระดับรุนแรง ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยเกิดใหม่ทั่วโลกราว 10-15 ล้านคน ในจำนวนนี้ 5 ล้านคนเสียชีวิต และอีก 5 ล้านคน กลายเป็นคนพิการถาวร [/b]
ที่ผ่านมามีผู้สร้างวีลแชร์บังคับด้วยสมอง บังคับด้วยเสียง ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุขตามอัตภาพ ล่าสุดคนไทยได้สร้างความฮือฮาด้วยผลงานนวัตกรรมวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะควบคุมด้วยสายตา (Smart Wheelchair Based on Eye Tracking) โดยทีมนักศึกษาและอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประกอบด้วย รศ.ดร.ชูชาติ ปิณฑวิรุจน์, ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา, อนิวัฒน์ จูห้อง และ ศุภกร สุวรรณ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยโดยคว้ารางวัล Silver Award จากเวทีแข่งขันนวัตกรรมระดับโลก International Contest of Innovation 2017 หรือ iCAN ที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งมีผู้เข้าประกวดนวัตกรรมจำนวนกว่า 5,000 คน จาก 20 ประเทศ นับเป็นหนึ่งเดียวในอาเซียนที่ได้เข้ารอบและคว้ารางวัลมาครอง
[b]รศ.ดร.ชูชาติ ปิณฑวิรุจน์ [/b] หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการคิดค้นวิจัยนวัตกรรมนี้ เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย และมีผู้พิการเพิ่มมากขึ้น เฉพาะที่ลงทะเบียนมีจำนวนรวม 2.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 3-5 % ต้องทุกข์ทรมานจากอัมพฤกษ์อัมพาต โดยคาดว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยใหม่ที่เป็นอัมพาตปีละกว่า 150,000 ราย วีลแชร์จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญในการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเหล่านี้ แต่วีลแชร์ไฟฟ้าที่มีในท้องตลาด ส่วนใหญ่มักจะควบคุมการใช้งานด้วยจอยสติ๊ก แต่ผู้ป่วยอัมพาตชนิด ALS หรือพาร์กินสัน จะใช้วีลแชร์ที่มีอยู่ทั่วไปได้อย่างยากลำบาก แม้นักวิจัยจะสร้างวีลแชร์บังคับด้วยเสียง (Voiced-control system) และบังคับด้วยสมอง (Brain-control system) แต่ก็มีปัญหาเมื่อสภาพแวดล้อมเสียงดังรบกวน
วีลแชร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยสายตา คว้ารางวัลนวัตกรรมระดับโลก