เปิดนโยบายในฝันของคนพิการ “บนฐานสิทธิไม่ใช่ฐานสงเคราะห์”
[/p]
[b]ผู้ช่วยคนพิการ (PA) [/b]
ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ นักสิทธิด้านคนพิการ อธิบายถึงผู้ช่วยคนพิการหรือพีเอ (PA: Personal Assistant) ว่าต่างกับผู้ดูแล ซึ่งคือคนในครอบครัวที่ดูแลคนพิการอยู่เป็นประจำ ผู้ช่วยคนพิการหรือพีเอคือ สวัสดิการของรัฐที่รัฐจัดสรรให้ พีเอไม่ใช่คนใช้ของบ้าน แต่เป็นคนทำตามสิ่งที่คนพิการตัดสินใจ ไม่คิดแทน ตอนนี้คนพิการมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,720,000 คน เป็นคนพิการระดับรุนแรงประมาณ 50,000 คน มีพีเอ 700-800 คน และมีแนวโน้มลดลง เพราะไม่มีการลงทะเบียนใหม่เพิ่ม
ในยุโรปอธิบายว่า เมื่อมีคนพิการ สมาชิกในครอบครัวต้องหยุดงานมาดูแล แต่ถ้ามีระบบพีเอ แรงงานราคาสูงจำนวนมากก็กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่วนแรงงานราคาถูกก็ได้กลับเข้ามาในระบบงาน ทั้งนี้ต้องมีกระบวนการอบรมคนพิการให้รู้ว่า พีเอคืออะไร มีหน้าที่แค่ผู้ช่วย แต่ไม่มีสิทธิตัดสินใจแทน แต่รัฐไม่มีเคยมีการเวิร์คช็อปคนพิการเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีชุมชนบางแห่งนำผู้นำท้องถิ่นมาเป็นพีเอ คนพิการก็นึกว่าแค่มาเยี่ยม ดังนั้นพีเอในไทยจึงยังไม่เป็นไปตามหลักการ ยังไม่สนับสนุนให้คนพิการมีอำนาจตัดสินใจ
มีข้อเสนอว่าเราสามารถให้คนในครอบครัวเป็นพีเอ แต่มีข้อโต้แย้งว่าแล้วถ้าคนในครอบครัวตายคนพิการจะอยู่ยังไง การมีผู้ช่วยเป็นใครสักคนนานๆ จะทำให้ชิน ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นผู้ช่วยคนอื่นได้ มันคือทักษะการรับบริการของคนพิการที่ต้องฝึกด้วย ต่อไปถ้าไม่มีคนสนิทอยู่ใกล้ๆจะมีชีวิตอยู่อย่างไร
ข้อเสนอของชูเวชคือ ทำพีเอให้เป็นไปตามหลักการ เปิดช่องให้แรงงานต่างด้าวเป็นพีเอได้ แต่รัฐไทยไม่ยอมจ่ายเงินให้คนต่างด้าว ถ้ารัฐไม่มีสามารถทำก็อาจเปิดให้เอกชนทำ รัฐทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างเดียว ควบคุมราคา การบริการ และขณะเดียวกันคนที่เป็นพีเอเก่งภาษาก็สามารถทำงานกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงอายุได้อีก สัมพันธ์กับมิติเชิงเศรษฐกิจการท่องเที่ยว
[b]สถาบันพัฒนาองค์กรคนพิการชุมชน[/b]
ชูเวชได้แนวคิดมาจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งทำงานเกี่ยวกับสลัม ที่อยู่อาศัย คนไร้บ้าน โดยเจรจาให้คนไร้บ้านมีโอกาสมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ละหลังไม่เหมือนกันแบบบ้านเอื้ออาทร แต่ออกแบบให้เหมาะกับแต่ละครอบครัวซึ่งมีขนาดไม่เท่ากัน ความจำเป็นในการใช้สอยไม่เหมือนกัน พอช. ออกแบบโดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้น ทำระบบธนาคาร สวัสดิการชุมชน มีโครงสร้างพื้นฐานครบตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ จนถึงตาย ในชุมชน การบริหารงบประมาณ ชุมชนก็เป็นคนจัดการงบประมาณเอง ส่วนงบก้อนใหญ่ พอช. ก็นำไปลงทุนในตลาดหุ้นได้ เป็นค่าจ้างแก่พนักงาน เกิดความยั่งยืนในการบริหารจัดการเงิน
[b]ชูเวชเสนอว่าสถาบันพัฒนาองค์กรคนพิการชุมชนควรมีระบบจัดการ โดยเสนอกลไก 5 ระดับว่า[/b]
1. มีพี่เลี้ยงเข้าไปช่วยดูแลการเขียนโครงการ เพื่อช่วยเหลือคนพิการในการเขียนใบนำเสนอโครงการ (Proposal) แต่ไม่ใช่การเขียนแทน แต่เป็นการสอนให้เขาเรียนรู้เองเพื่อให้เขาทำเป็นในอนาคต
2. เงื่อนไขในการให้ทุนกับองค์กรคนพิการในชุมชนจะต้องมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ลักษณะที่ไม่หากใบนำเสนอโครงการยังไม่ผ่านก็ยังขอทุนรายกิจกรรม ค่าอาหาร ค่ากิจกรรม
3. ถ้าคนพิการมีใจระยะยาว อยากทำต่อ ต้องมีกลไกพัฒนาทักษะ ปัจจุบันมีการให้ความรู้เรื่องสิทธิเรื่องกฎหมาย แต่คนที่ลงชุมชน empower คนพิการให้มีแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเอง คนกลุ่มนี้เรียกว่า “Peer Counselor” ซึ่งมีทักษะในการให้คำปรึกษา ไม่อยากให้ทักษะนี้ถูกผูกขาดอยู่แค่สถาบันการศึกษาใดสถาบันหนึ่ง สถาบันพัฒนาองค์กรคนพิการชุมชนต้องมีหน้าที่ฝึกอบรม รับรอง ให้ค่าตอบแทนที่โอเคกับ Peer Counselor
4. สนับสนุนการจัดการบริการผ่าน Peer Counselor และจ่ายค่าตอบแทนให้กับ Peer Counselor
- Universal Design สนับสนุนให้เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมจากคนในชุมชนเอง โดยให้สถาปนิกลงไปสำรวจชุมชน การออกแบบต้องมาจากผู้ใช้เป็นหลัก มาจากที่ประชุมในชุมชน ใครจำเป็นก่อนหลัง ป้องกันการเล่นพรรคเล่นพวก การสำรวจทำให้คนในชุมชนได้เห็นปัญหาของกันและกัน
- มีบริการพีเอ กระบวนการคัดเลือกจากคนในชุมชนเลือกกัน เพื่อให้ได้คนที่คนในชุมชนไว้ใจ
- บริการด้านข้อมูลข่าวสาร มีหลายรูปแบบ ส่งจดหมายเชิญคนพิการมาประชุม การเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ สำหรับองค์กรคนพิการ พิมพ์เอกสาร กฎหมายตัวใหม่กำลังจะผ่านร่างก็ต้องมีหน่วยบอกข้อมูลในชุมชน Peer Counselor เป็นตัวแทนรัฐในการประชาสัมพันธ์ ชงเรื่อง ยื่นเรื่อง และบริการคนพิการ
5. บริการพิทักษ์สิทธิ เป็นข้อต่อใหญ่ที่ทำให้สถาบันนี้เชื่อมไปสู่กระทรวงอื่นได้ เช่น มีเด็กพิการที่ถูกมหาลัยปฏิเสธไม่ขายใบสมัครเรียนให้ องค์กรคนพิการสามารถเข้าไปให้ความรู้กับมหาลัย เก็บหลักฐานการเลือกปฏิบัติ ส่งกรรมการสิทธิฯ ส่งหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าไปถึงกลไกนี้ สถาบันฯ จะเป็นหูเป็นตาให้รัฐในการสอดส่องหน่วยงานที่ยังมีการปฏิบัติไม่เอื้อแก่คนพิการ และกว่าจะมาถึงกลไกนี้ สถาบันฯ จะรู้ปัญหาของคนพิการ คนพิการเองก็มีสภาพแวดล้อมที่ดี ได้รับข้อมูลข่าวครบถ้วน และเมื่อถูกเลือกปฏิบัติ ก็มีกลไกขจัดการเลือกปฏิบัติด้วย
"รัฐส่วนกลางควรลดบทบาทตัวเองลง เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสนับสนุนคนพิการมากขึ้น มีกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น องค์กรคนพิการในท้องถิ่นที่ไม่เป็นสายสัมพันธ์จากบนลงล่าง แต่เป็นสายสัมพันธ์ใยแมงมุม อยู่ในระดับเดียวกัน เชื่อมโยงหลายหน่วยงานหลายเครือข่ายเข้าด้วยกัน" ชูเวชกล่าว
[b]ระบุความพิการทางจิตให้ชัด เพื่อให้มีนโยบายตอบสนอง[/b]
เปิดนโยบายในฝันของคนพิการ “บนฐานสิทธิไม่ใช่ฐานสงเคราะห์”