โลกเงียบหลังเลนส์
ท่ามกลางละอองฝนที่ปกคลุมสถูป 108 องค์ แห่งโดชูล่า (DOCHULA) เมืองทิมพู [b]เด็กสาวยกกล้องขึ้นเก็บภาพแลนด์สเคปเบื้องหน้า ก่อนจะส่งภาษามือให้เพื่อนมาช่วยดูผลงานหลังเลนส์ของเธอ[/b] แม้อากาศจะไม่เอื้ออำนวย แต่ทุกคนก็มีความมุ่งมั่นที่จะเก็บภาพที่ดีที่สุดเพื่อนำไปให้คณะกรรมการพิจารณา
[b]สุเทพ ช่วยปัญญา หัวหน้าคณะวิทยากร เปิดใจว่า[/b] แม้การสอนเด็กหูหนวกจะค่อนข้างยาก เพราะต้องเตรียมการสอนใหม่ ใช้ภาพตัวอย่างที่ชัดเจนขึ้น แต่ก็มีความประทับใจที่เด็กๆ มีความตั้งใจและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา
“เท่าที่ดูที่เขาถ่าย บางเรื่องที่ไม่ได้สอนแต่อยู่ในองค์ประกอบภาพเหมือนกัน เขาก็สามารถที่จะถ่ายได้ และบางมุมที่เราไม่คิดว่าเขาจะถ่ายออกมาแบบนี้ เขาก็กล้าที่จะถ่าย กล้าที่จะคิด มีมุมมองใหม่ๆ ของเขาเอง คือเป็นตัวของเขาเอง โดยส่วนตัว [b]มาที่นี่ก็อยากมาสร้างแรงบันดาลใจให้เขา ให้เขารู้ว่าตนเองก็สามารถเรียนรู้ในการถ่ายภาพได้” [/b]
อีกมุมหนึ่ง ช่างภาพจิตอาสาที่ร่วมเดินทางมาเป็นวิทยากรอย่าง ชาธร โชคภัทระ มองว่าปัญหาในการสื่อสารอาจมีบ้าง แต่ไม่ถือเป็นอุปสรรค [b] “เป็นความท้าทายมากกว่า” [/b]
“ส่วนของผมก็จะหาตัวอย่างรูปจากทั่วโลก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ว่านอกจากถ่ายรูปเพื่อความบันเทิงแล้ว เขาสามารถเอาไปทำเป็นอาชีพได้นะ” ซึ่งหลังจากได้เห็นภาพผลงานของเด็กๆ วิทยากรคนนี้บอกว่ารู้สึกมีกำลังใจ “ถึงแม้เราจะอยู่กับเด็กแค่ 4-5 วัน [b]แต่สามารถรับรู้ถึงความตั้งใจและพลังของเขาได้ แล้วยิ่งได้ไปกินอยู่ร่วมกันทั้งในห้องอบรมและการออกภาคสนาม ก็เกิดความผูกพันไปโดยปริยาย[/b] ในใจลึกๆ ก็หวังว่าสอนจบแล้ว ไม่ใช่มันจะจบแค่นี้ มีความหวังว่าอยากจะต่อยอด
หนึ่งในเชิงโครงการเราอยากจะดึงเด็กที่มีศักยภาพสักจำนวนหนึ่งมาสอนในคอร์สที่มันสูงขึ้นเพื่อเขาจะเป็นช่างภาพที่ดีได้ กับอีกส่วนหนึ่งก็คุยกับครูใหญ่ว่า[b]อยากให้เขาสามารถใช้การถ่ายภาพเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต[/b] เพราะจริงๆ ในเชิงอาชีพทุกวันนี้ เด็กหูหนวกที่นี่ยังหางานได้ยาก ก็เลยมีความหวังว่าสิ่งที่เราให้ไป เขาจะได้ใช้จริงๆ”
อย่างไรก็ตาม [b]ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้อาชีพช่างภาพในภูฏานยังมีให้เห็นไม่มากนัก หากทักษะความรู้จากโครงการดังกล่าวช่วยจุดประกายความฝันในเส้นทางนี้ได้ ย่อมถือเป็นอีกก้าวของสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสองประเทศ[/b] “ผมเข้าใจว่าเมื่อ 8 ปีก่อน ที่ภูฏานไม่มีภาษามือเลย คนหูหนวกก็อยู่ในหมู่บ้านของตนเอง ไม่ได้ออกมายุ่งเกี่ยวกับโลกภายนอก ถ้ายุ่งเกี่ยวกับข้างนอกก็ใช้ภาษาง่ายๆ แบบ กินข้าว กินน้ำ อะไรแบบนั้น แต่ขณะนี้เขาก็เริ่มพัฒนาภาษามือของเขา โดยที่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามือจากเมืองไทย จากวิทยาลัยราชสุดา ซึ่งภาษามือที่นี่ก็คงใช้รูปแบบคล้ายๆ กับภาษาไทย คือเอาภาษาสากลเข้ามาประมาณ 50 % และอีก 50 % ก็เป็นภาษาพื้นฐาน Native Language เข้ามาช่วยด้วย”
กลุ่มนักเรียนคนพิการทางการได้ยินในภูฏาน