ผู้บริโภคจ๊าก! IUU สัตว์น้ำแพงหูฉี่ ปลาทูไทยขาด- โรงงานแปรรูปนำเข้า วัตถุดิบต้นทุนพุ่ง
[/p]
[b] “ปลาทะเล กุ้ง ปู” [/b] ราคาพุ่งกระฉูดสวนกระแสกำลังซื้อซบ เหตุเรือประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้านอ่วมกฎเหล็กไอยูยู-ปัญหาแรงงาน-มรสุม ออกทำประมงไม่ได้ ปริมาณสัตว์น้ำทะเลลดฮวบ บางจังหวัดเริ่มขาดแคลน ปลาทูไทยแท้หายากจ่อสูญพันธุ์ ขณะที่ปลาทูอินเดีย ปากีสถาน มาเลย์ กัมพูชา เวียดนามยึดตลาดเบ็ดเสร็จ ด้านอุตสาหกรรมแปรรูป-โรงงานน้ำปลาเร่งปรับตัวหนีตาย หันนำเข้าวัตถุดิบทดแทน ดันต้นทุนพุ่งเท่าตัว
[b]คนกินสัตว์น้ำทะเลแพงไม่รู้ตัว[/b]
นายสุรพงษ์ อินทรประเสริฐ ที่ปรึกษาสมาคมประมงจังหวัดตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การบังคับใช้ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และคำสั่ง คสช.ที่ 10/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ประมาณ 2 ปีเศษ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน และเรือประมงพาณิชย์กว่า 30% ต้องจอดหยุดทำการประมง และบางรายเลิกอาชีพประมง ประกอบกับช่วงฤดูมรสุมด้วย ส่งผลให้ปริมาณปลาออกสู่ตลาดน้อยลง ราคาอาหารทะเลปรับราคาสูงขึ้นทั้งปลาสดและวัตถุดิบแปรรูป
[b]รง.หมักน้ำปลา-ผลิตน้ำปลาอ่วม[/b]
นายวิบูลย์ เครือลอย ผู้จัดการ บริษัท เทพพรชัย อุตสาหกรรม จำกัด จ.ตราด เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำปลาแท้ตราสามกระต่าย เปิดเผยว่า ปัญหาเรือประมงพาณิชย์และแรงงานที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เรือประมงปลากะตักของไทยต้องนำเรือไปขึ้นที่ท่าเทียบเรือในเกาะกง กัมพูชา และบรรทุกปลากะตักเข้ามาส่งโรงงานใน จ.ตราด ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเป็น 10,000 บาท/เที่ยวรถบรรทุกสิบล้อ และราคาปลากะตักเพิ่มขึ้นจาก 4-5 บาท/กก. เป็น 10 บาท/กก. ขณะนี้โรงงานหมักน้ำปลาปรับราคาขึ้น 10-15% ขณะที่โรงงานผลิตน้ำปลาก็จำเป็นต้องปรับราคาตามไปด้วย และเร็ว ๆ นี้โรงงานหมักน้ำปลาแจ้งว่าจะปรับราคาอีกครั้ง
[b] “หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อีกประมาณ 5 ปี เรืออวนล้อมปลากะตักจะอยู่ไม่ได้ ต้องหยุดกิจการไป ส่วนโรงงานแปรรูปก็จะไม่สามารถผลิตน้ำปลาดี ๆ มีคุณภาพได้ เพราะปลากะตักเป็นปลาชั้นดี มีกลิ่นหอม” [/b] นายวิบูลย์กล่าว
ด้านนางวิรันทา อักษรหรั่ง แม่ค้าปลาในตลาดเทศบาลเมืองตราด กล่าวว่า หลังจากมีกฎหมายประมงใหม่ ๆ ออกมาเข้มงวดกับเรือประมง ทำให้เรือประมงพาณิชย์และเรือประมงพื้นบ้านออกทำประมงไม่ได้ ปริมาณปลาในตลาดมีน้อยและราคาแพง เช่น ปลากระบอกขนาดกลางเดิมกิโลกรัมละ 120-130 บาท ตอนนี้อยู่ที่ 150-160 บาท หรือปลากระบอกแดดเดียวจาก 200 บาท/กก.เพิ่มเป็น 250 บาท ปลานวลจันทร์กิโลกรัมละ 120-130 บาท ปลาสาก 150 บาท ปลากุเลา 200-220 บาท ปลาโฉมงาม 150 บาท ปลาอังเก่ย 220-230 ปลาอินทรีขนาดใหญ่ 3 กิโลกรัมขึ้นไป 280-300 บาท/กก.
[b]กระทบลูกโซ่ประมง-ท่องเที่ยว[/b]
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกิจการเรือประมงทั่วประเทศกำลังขาดแคลนแรงงานไม่ต่ำกว่า 74,000 คน หากรัฐบาลไม่รีบแก้ไข จะกระทบกันเป็นลูกโซ่ เช่น โรงงานแปรรูปอาหารทะเลก็จะไม่มีวัตถุดิบ ส่วนนักท่องเที่ยวที่ต้องการบริโภคอาหารทะเลจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เพราะอาหารทะเลขาดตลาด รวมทั้งโรงแรม รีสอร์ต ก็จะได้รับผลกระทบตามกันไปด้วย
[b] “ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ปูทะเลตัวใหญ่จากราคากิโลกรัมละไม่ถึง 1,000 บาท ได้ขยับราคาขึ้นเป็น 2,000 บาท ปูม้าจากราคา 100 บาท/กก. ก็ขยับขึ้นเป็น 200-300 บาท แม้แต่ปูเป็นที่เคยขาย 200-300 บาท/กก. แต่ขณะนี้ได้ขยับราคาขึ้นเป็น 600-800 บาท/กก.แล้ว หากไม่แก้ไขปัญหานี้ คนไทยก็จะต้องกินอาหารทะเลที่มีราคาสูงมาก ทั้งที่เราเป็นประเทศที่สามารถจับปลาได้เอง” [/b] นายมงคลกล่าว
แม่ค้าปลาสดรายหนึ่งในตลาดสดชุมพรกล่าวว่า ราคาอาหารทะเลในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เนื่องจากเรือประมงมีปัญหาทั้งเรื่องขาดแคลนแรงงานและเข้าสู่ฤดูมรสุม ไม่สามารถออกเรือทำประมงได้ตามปกติ
ด้านนายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า โดยภาพรวมราคากุ้งขยับขึ้น 5-10 บาท/กก. ขึ้นอยู่กับขนาด เช่น กุ้งขนาด 60 ตัว/กก. ราคาประมาณ 200 บาท ส่วนสัตว์น้ำทะเลอื่น ๆ มีปริมาณน้อยมาก เนื่องจากเรือประมงไม่สามารถออกจับสัตว์น้ำได้ ราคาจึงขยับสูงขึ้น
นายโอฬาร อุยะกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องสยาม จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำประสบปัญหาขาดแคลนสัตว์น้ำมาประมาณ 2-3 เดือนแล้ว ปัจจัยหลักคือเป็นช่วงมรสุมและการทำตามกฎไอยูยู ทำให้เรือประมงเหลือน้อย และออกจับสัตว์น้ำได้น้อย ขณะนี้จึงต้องมีการนำเข้าสัตว์น้ำเพื่อผลิตสินค้าให้ทันออร์เดอร์ส่งออกในช่วงปลายปีนี้
[b]ปลาทูไทยแท้ ๆ หายากมาก[/b]
นางประชุม อยู่ประเสริฐ เจ้าของร้านเจ๊ชุม จำหน่ายปลาทูนึ่งที่ตลาดสดเทศบาลสมุทรสงคราม (ตลาดแม่กลอง) จ.สมุทรสงคราม เปิดเผยว่า ขณะนี้ไม่มีปลาทูไทยออกสู่ตลาด ถ้ามีก็เป็นปลาทูขนาดเล็กมากและมีจำนวนน้อย แม่ค้าส่วนใหญ่จึงต้องไปรับซื้อปลาทูนำเข้าจากห้องเย็น โดยนำเข้าจากมาเลเซีย ซึ่งเป็นปลาทูตัวสั้น ส่วนปลาทูอินเดียและปากีสถานตัวใหญ่กว่า ขณะที่ปลาทูจากอินโดนีเซียไม่ได้นำเข้ามาแล้ว เพราะห้ามเรือไทยเข้าไปจับ
สำหรับราคาที่ซื้อจากห้องเย็นกล่องละ 10 กิโลกรัม (กก.) หากเป็นปลาทูตัวเล็ก เกรดไม่ค่อยดี หรือที่เรียกว่าปลาทูแมว ราคา 700 บาท/กล่อง หากเกรดดีขึ้นมา ราคาตั้งแต่ 800-1,000 บาทขึ้นไป/กล่อง ซึ่งถือว่าราคาแพงขึ้น เพราะเดิมราคาเพียงกล่องละ 700 บาท ทั้งนี้จะนำมาจำหน่ายกล่องละ 6-7 ตัว ราคา 100 บาท ส่วนปลาทูที่เนื้อไม่ดีนัก แม่ค้าบางรายจะนำมาแกะเนื้อชั่งกิโลขาย รวมถึงมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อไปจำหน่ายต่อในราคา 6-7 ตัว/กล่อง ราคา 120-130 บาท ในอนาคตราคาปลาทูอาจจะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ และปลาทูไทยอาจจะมีน้อยจนแทบไม่มี เพราะไม่มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์
[b]แห่พึ่งนำเข้า-ดันราคาปลาพุ่ง[/b]
นายอาคม เครือวัลย์ ประธานชมรมแปรรูปอาหารทะเล จังหวัดสมุทรสาคร และเจ้าของกิจการแปรรูปอาหารทะเล บริษัท นงค์ ก. จำกัด เปิดเผยว่า จากนโยบายจัดระเบียบเรือประมงจนถึงขณะนี้ส่งผลให้เรือประมงไทยไม่สามารถออกจับปลาได้ โรงงานต่าง ๆ ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ราคาอาหารทะเลก็ต้องปรับตัวสูงขึ้นตาม เช่น ปลาหมึกนำเข้าจากประเทศเปรู อาร์เจนตินา ปากีสถาน และอินโดนีเซีย โดยราคาสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 20 บาท เป็น 100 กว่าบาท ขณะที่หมึกแห้งก็ต้องนำเข้าจากประเทศเวียดนาม กัมพูชา
ตอนนี้ยังมีปลาอีกหลายชนิดหายไปจากตลาด เพราะกฎระเบียบเข้มงวดจนไม่สามารถทำการประมงได้ เช่น ปลาสำลีต้องนำเข้าจากมะริด เมียนมา ราคาก็แพงขึ้น เกือบจะถึง 300 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ปลาแปะเชีย หรือจะระเม็ดขาว 700-800 บาท/กิโลกรัม จากเดิมไม่ถึง 200 บาท/กก. ส่วนปลากะพงเป็นปลาเลี้ยงจะไม่กระทบเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นกะพงจากทะเลจากเดิมกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท เป็น 200 กว่าบาท ราคาไต่ขึ้นไม่มีลง แต่ปลาเลี้ยงก็ยืนราคาเดิม 120-160 บาท/กก.
[b] “แม้แต่กะปิเวลานี้บ้านเราแทบไม่มีกิน ต้องซื้อกะปิกัมพูชาเข้ามาผสม ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไปอาหารทะเลก็จะราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเราต้องนำเข้า ยิ่งเขารู้ว่าเราไม่มีปัญญาทำกิน ก็ยิ่งโก่งราคาเราไม่มีที่สิ้นสุด เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ประเทศที่เคยทำประมงอันดับ 1 ของโลก ต้องมานำเข้าหมดทุกอย่าง ทางออกมืดมนไปหมด” [/b]
นายอาคมกล่าวอีกว่า ปลาที่หายไปจากทะเลไทยแล้ว คือ ปลาทู เนื่องจากการบริหารของภาครัฐที่อนุญาตให้เรืออวนลอยอวนจม และอวนลากคู่สามารถทำได้ ทำให้จับปลาใหญ่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไปหมด ปลาเล็กไม่มีโอกาสได้เกิด ตอนนี้ตั้งแต่สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี หัวหิน หรือตลาดมหาชัยไม่มีปลาทูสดวางขาย ส่วนที่วางขายนั้นเป็นปลานำเข้าทั้งหมด
ผู้บริโภคจ๊าก! IUU สัตว์น้ำแพงหูฉี่ ปลาทูไทยขาด- โรงงานแปรรูปนำเข้า วัตถุดิบต้นทุนพุ่ง