"ปลักแรดโมเดล" ต้นแบบสหวิชาชีพสุขภาพ ผนึกกำลังรักษา "ผู้ป่วยจิตเวช" กลับสู่สังคม
[b]เมื่อทุกชีวิตมีค่า "คนบ้า" ไม่ควรถูกทอดทิ้ง เพราะรักษาได้ น.ส.วันเพ็ญ ตันวีระพันธุ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผอ.รพ.สต. ปลักแรด เปิดเผยว่า[/b] การทำงานด้านสุขภาพจิต ของ รพ.สต.มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เกิดขึ้นเมื่อสิบปีที่แล้ว ที่เราได้ช่วยผู้ป่วยจิตเวชคนหนึ่งที่เคยถูกขังอยู่ในบ้านเพราะคนในครอบครัวไม่รู้จะทำอย่างไร สภาพผมเผ้ารกรุงรัง แต่หลังจากที่ทีมงานเข้าไปช่วยเหลือแล้ว จนต่อมาผู้ป่วยสามารถมีชีวิตปกติ กลับเข้าสู่สังคมได้ที่สำคัญสามารถไปทำบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตนหลังจากที่ต้องปล่อยให้บัตรขาดมานานหลายปี
[b]"ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราภูมิใจมากและเป็นกำลังใจให้พวกเราทำงานนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะรู้สึกว่าได้คืนความเป็นคน คืนชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยได้[/b] เพราะจากที่เขาเคยป่วยเป็นภาระของที่บ้าน แต่วันนี้เขาอาการดีขึ้น ควบคุมตัวเองได้ พาพ่อแม่เขาไปโรงพยาบาลได้ ความสำเร็จตรงนี้มีความหมายต่อการทำงานของเรามาก เพราะชีวิตและความเป็นมนุษย์ของทุกคนมีค่า เมื่อเกิดมาแล้ว ทุกคนควรได้รับโอกาสได้ใช้ชีวิตของตัวเองอย่างเต็มที่ การเจ็บป่วยไม่ควรเป็นอุปสรรค ถ้ารักษาได้เราต้องรักษา นี่คือหน้าที่และความตั้งใจของสหวิชาชีพที่นี่ ที่เห็นคุณค่าของชีวิตทุกคน" ผอ.รพ.สต. ปลักแรด กล่าว
[b]รู้จักทีม "สหวิชาชีพ" ผอ.รพ.สต. ปลักแรด กล่าวต่อไปว่า[/b] เราได้สร้าง "ทีมสหวิชาชีพสุขภาพ" ตั้งแต่ท้องถิ่นถึงระดับจังหวัด เพื่อบริการสาธารณสุขต่อประชาชนในทุกด้านทั้งจิตเวช การเจ็บป่วยทั่วไป ผู้ป่วยเรื้อรัง ฯลฯซึ่งประกอบไปด้วย
[b]1.เจ้าหน้าที่ อสม.[/b] จะทำหน้าที่สอดส่องดูแลสุขภาพของคนในชุมชน หากพบว่ามีคนป่วยจิตเวช หรือการป่วยอื่นๆก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ที่รพ.สต.ทันที
[b]2.เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใน รพ.สต.[/b] หลังจากได้รับเรื่องแล้วจะลงพื้นที่มาที่บ้านผู้ป่วยทันที เพื่อประเมินแนวทางการรักษาว่าสามารถรักษาได้ที่รพ.สต.หรือไม่หรือต้องไปที่โรงพยาบาล
[b]3. พยาบาลจาก รพ.อำเภอ/จังหวัด[/b] จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่ รพ.สต. โดยหลังจากได้รับเรื่องจากในพื้นที่จะแจ้งเรื่องแก่แพทย์เพื่อเตรียมตัวในการรักษาคนไข้
[b]4.เภสัชกร[/b] มีหน้าที่จ่ายยาต่างๆ ให้ผู้ป่วย โดยส่วนใหญ่จะทำเป็นรายเดือน เพื่อไม่ต้องให้ผู้ป่วยเสียเวลามารับยาที่รพ.บ่อยๆ
[b]5.นักภายภาพบำบัด[/b] ทำหน้าที่ไปตรวจเยี่ยมและรักษาประชาชนที่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว ทั้งผู้ป่วยจิตเวชผู้ป่วยโรคเรื้อรังผู้สูงอายุและให้การอบรมเจ้าหน้าที่อสม.ในการดูแลผู้ป่วยในชุมชน
[b]6.นักจิตวิทยา[/b] ซึ่งได้เข้ามาดูแลผู้ป่วยและให้คำแนะนำกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต.และ อสม.ว่าจะต้องเข้าหาผู้ป่วยอย่างไร
[b]7.เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[/b] ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนักต้องรักษาอย่างทันท่วงที เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นนำรถไปพาส่งโรงพยาบาล
ดังนั้น [b]การทำงานแบบสหวิชาชีพที่มีหลายฝ่ายร่วมกันจึงมีความสำคัญมาก เพราะเราต่างมีความถนัดต่างกัน เมื่อมารวมกันทำงานเป็นทีมจึงสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว[/b] โดยเราจะสื่อสารกันเป็นชั้นๆ แต่ถ้าในบางกรณีที่มีปัญหาใหญ่จริงๆและอาการไม่ดีขึ้น ทุกคนจะมาประชุมและหาทางออกร่วมกัน และหากมีกรณีฉุกเฉินก็จะมีการลงพื้นที่ทันที อย่างไรก็ตาม [b]การดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิตนั้น เราจะไม่เข้าไปทีละหลายๆ คน เพราะจะมีการต่อต้านจากคนไข้ซึ่งอสม.ที่รับเป็นเจ้าภาพในการดูแลคนป่วยจะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยและญาติมากที่สุด[/b]
"[b]จากวันนั้นถึงวันนี้ที่ตำบลปลักแรด เราได้รักษาผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกทิ้งจากครอบครัว จนกระทั่งพวกเขากลับมามีชีวิตเป็นปกติได้จำนวน 24 คน[/b] แม้อาจจะดูว่าไม่มาก แต่ในแง่ความเป็นมนุษย์ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากคนเหล่านี้ไม่ได้รับช่วยเหลือ พวกเขาก็จะเป็นกลายเป็นคนที่ถูกทิ้ง เป็นคนเร่ร่อน หรือเป็นคนบ้าที่อาจจะสร้างหวาดกลัวและความเดือดร้อนให้คนในสังคมแบบที่เราเห็นในข่าวได้ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาสังคมที่กระทบต่อทุกคน"ผอ.รพ.สต.ปลัดแรดกล่าว
[b]นายจำรัส ปานนิ่ม ผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเวช ต.ปลักแรด อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า[/b] พี่สาวได้ป่วยจิตเวชมาเป็นเวลาหลายปี รู้สึกดีใจที่เจ้าหน้าที่มาดูแลอย่างต่อเนื่อง ทำให้พี่มีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหารและงานบ้าน เพราะกินยาและฉีดยาอยู่เสมอ โดยตนเองมีหน้าที่ไปรับยาจาก รพ. และให้หมอจาก รพ.สต.มาฉีดยาให้ จึงต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ลงพื้นที่ เพราะสำหรับชาวบ้านนั้นการดูแลผู้ป่วยจิตเวชถือว่าเป็นเรื่องยาก
[b]หลักสูตรสหวิชาชีพช่วยลดความขัดแย้งบุคลากรสุขภาพ ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า[/b] การทำงานของสหวิชาชีพ รพ.สต.ปลักแรด ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการปฏิบัติงานร่วมกันของสหวิชาชีพ (Inter professional practice) ซึ่งเราได้เสนอให้มหาวิทยาลัยนเรศวรพานักศึกษาไปลงพื้นที่เพื่อศึกษาว่าบริบทแต่ละวิชาชีพในการทำงานแบบนี้เขาทำอย่างไร
ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.)