'ลำปาง' เดินหน้าสู่เมืองท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (1)
[/p]
[b]โดย กฤษนะ ละไล[/b]
จ.ลำปาง ยุคปัจจุบัน ภายใต้การนำของ คุณสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัด กำลังคึกคักเข้มข้นกับการขับเคลื่อน...เดินหน้าเมืองรถม้า จ.ลำปาง ไปสู่ความเป็นเมืองท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล และเมืองอารยสถาปัตย์ ด้วยการรวมพลังทุกภาค... [b]ส่วนในการร่วมมือกันปรับปรุง ส่งเสริม และจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย[/b] ทั้งในแหล่งท่องเที่ยว ศาสนาสถาน ปั๊มน้ำมัน จุดแวะพักระหว่างการเดินทาง โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร และบริการ สาธารณะต่างๆ ภายในจังหวัด
[b]เริ่มจากศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือปางช้าง ที่ ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร[/b] ในการกำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่เป็นแกนนำสำคัญในการดำเนินการปรับปรุง พัฒนา [b]และสร้างทำอารยสถาปัตย์ หรือ Friendly Design เพื่อให้ทุกพื้นที่การท่องเที่ยวในปางช้างแห่งนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมรองรับการมาเยือนของคนทุกวัย ทุกสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้พักฟื้นสุขภาพ ผู้พิการ และคนที่ใช้รถเข็น ให้สามารถเข้าถึงได้[/b] มาเที่ยวปางช้างกับลูกหลาน หรือครอบครัว ตลอดจนญาติสนิทมิตรสหายได้โดยสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย เป็นธรรม ทั่วถึง เท่าเทียม และทัดเทียมกับนานาอารยประเทศทั่วโลกเฟรนด์ลี่ดีไซน์ (Friendly Design=หลักการออกแบบที่เป็นสากล เป็นธรรม และเป็นมิตรกับคนทั้งมวล) ที่ปางช้าง อ.ห้างฉัตร เริ่มตั้งแต่ทางลาดมาตรฐานที่ไม่ชัน ไม่แคบ ไม่ลื่น ไม่อันตราย และทางลาดมีเชื่อมโยงไปได้เกือบทั่วทุกจุดหลักๆ ในแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ [b]และที่ขาดไม่ได้ คือ ห้องสุขาอารยสถาปัตย์สำหรับผู้สูงวัย ผู้พิการ และคนที่ใช้รถเข็นและที่ผมประทับใจมากๆ ในการสร้างทำอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวลที่ปางช้างแห่งนี้ นั่นก็คือ การปรับปรุงรถบริการนักท่องเที่ยวสำหรับเที่ยวชมปางช้าง ที่ได้มีการติดตั้งลิฟต์ยกรถเข็นให้มนุษย์ล้อสามารถขึ้นและลงรถบริการนักท่องเที่ยวที่ปางช้างนี้ได้เสมอเหมือนคนปกติทั่วไป[/b] ด้วยแนวคิด และนโยบายอารยสถาปัตย์ในแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวลแห่งนี้ ต้องขอขอบคุณ คุณสวัสดิ์ ตวงรัตน์หรดี ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ ที่ดูแล และพัฒนาอารยสถาปัตย์ปางช้างแห่งนี้ได้อย่างต่อเนื่อง และดีเยี่ยม
[b]คุณสวัสดิ์ บอกผมว่า กำลังคิดหาวิธีที่จะทำให้คนที่ใช้รถเข็น โดยเฉพาะคนพิการ สามารถขึ้นไปนั่งหลังช้างเพื่อชมธรรมชาติในปางช้างแห่งนี้ได้เหมือนคนปกติทั่วไป[/b] โดยไม่ต้องใช้คนอุ้มขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ อาจจะทำเป็นลิฟต์ยกตัวคนที่เดินไม่ได้ให้ขึ้นไปนั่งบนหลังช้างได้ ซึ่งคาดว่าจะทำได้สำเร็จในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม [b]ที่ปางช้างลำปางยังต้องทำเพิ่มเติม คือ[/b] โรงแรมที่พัก ที่ยังขาดห้องพักสำหรับคนที่ใช้รถเข็น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรง หัวใจสำคัญของโรงแรมที่พักเฟรนด์ลี่ดีไซน์ คือ ประตูห้องพักจะต้องมีความกว้างมากพอที่จะให้รถเข็นสามารถเข็นเข้าเข็นออกได้โดยสะดวก และห้องน้ำที่จะต้องกว้างพอให้รถเข็นสามารถหมุนไปมาได้ มีการติดตั้งราวจับกันลื่นล้ม หรืออุบัติเหตุ ซึ่งราวจับควรใช้แบบพับติดพนังได้ จะทำให้ไม่เกะกะ และไม่เปลืองพื้นที่ที่สำคัญ บริเวณห้องพัก ทั้งด้านใน และด้านนอก จะต้องมีทางลาดให้คนที่ใช้รถเข็นสามารถเข็นไปได้ทั่วทุกจุด ไม่ควรมีขั้นบันไดใดๆ ทั้งสิ้น [b]เพราะจะเป็นปัญหาและอุปสรรคมาก และจะต้องทำป้ายสัญลักษณ์เฟรนด์ลี่ดีไซน์ อาจเป็นรูปคนสูงวัยยืนถือไม้เท้า รูปคนนั่งรถเข็น หรืออาจมีรูปคนท้อง และรถเข็นเด็กเล็ก ติดไว้ตามจุดต่างๆ ที่มีอารยสถาปัตย์ให้บริการด้วย[/b] รวมถึงการเผยแพร่บอกข่าว หรือแปะโลโก้รูปรถเข็นลงไปในเว็บไซต์ หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ ของสถานที่ ก็จะยิ่งทำให้แหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้มีคุณภาพมาตรฐานโกอินเตอร์สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
ทั้งหมดนี้ [b]ทางผู้บริหารศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ โดย ผอ.สวัสดิ์ จะรับไปดำเนินการปรับปรุง และพัฒนาเพื่อให้ปางช้าง อ.ห้างฉัตร แห่งนี้ เป็นอีก 1 สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองไทยที่มีอารยสถาปัตย์[/b]สำหรับรองรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ และคนที่ใช้รถเข็นทั้งในเมืองไทย และจากหลายประเทศทั่วโลกร่วมกันขับเคลื่อน จ.ลำปาง ให้เป็นเมืองอารยสถาปัตย์ เป็นเมืองท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล เป็นแห่งแรกของเมืองไทยในยุคสมัยของพวกเราทุกคนครับ
กลุ่มคนพิการนั่งรถเข็นนำโดย นายกฤษนะ ละไล พาท่องชมอารยสถาปัตย์ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ ที่ ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร